Pages

Saturday, August 22, 2020

สำรวจ “ศรัทธาฟีเวอร์” จาก “จาตุคามรามเทพ” ถึง “ไอ้ไข่ กุมารเทพ” - ผู้จัดการออนไลน์

sallstargossip.blogspot.com

ไอ้ไข่ กุมารเทพแห่งวัดเจดีย์ กำลังเป็นที่นิยมเกิดกระแสศรัทธาอย่างล้นหลาม
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - คลื่นศรัทธาหลั่งไหลแห่เช่าบูชากุมารเทพ “ไอ้ไข่ฟีเวอร์” ผู้คนเรือนหมื่นจากทั่วทุกสารทิศมุ่งตรงสู่  วัดเจดีย์ ต.ฉลอง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช แย่งชิงวัตถุมงคล “ไอ้ไข่รุ่นยอดทรัพย์” เมื่อช่วงวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ล้นทะลักรับบัตรคิวใบจอง บางคนถึงกับเป็นลมล้มพับ ทะเลาะกันก่อความวุ่นวาย เกิดความโกลาหลจนทางวัดประกาศยุติไว้ก่อน ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ธรรมดา

ขณะเดียวกันก็ทำให้นึกถึงวัตถุมงคลที่โด่งดังที่สุดเมื่อ 10 กว่าปีก่อน อย่าง  “จตุคามรามเทพ”  เรียกว่าเป็นที่นิยมสูงสุดคนแห่บูชากันทั่วบ้านทั่วเมือง จนเกิดปรากฎการณ์ “จตุคามฟีเวอร์”  ให้เห็นกันมาแล้ว

แม้เกิดขึ้นต่างยุคแต่สร้างปรากฎการณ์ไม่ต่างกัน และที่น่าสนใจ  จาตุคามรามเทพ” และ  “ไอ้ไข่ กุมารเทพ” มีถิ่นกำเนิดเดียวกันในจังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนแผ่ขยายความศรัทธาไปในวงกว้างทุกพื้นที่ทุกจังหวัด โดยวัตถุประสงค์แรกเริ่มเพื่อจัดหารายได้พัฒนาศาสนสถานเช่นเดียวกัน กระทั่ง เข้าสู่พุทธพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ


 จตุคามรามเทพ รุ่นพี่ที่ไม่ธรรมดา
กล่าวสำหรับกระแสความศรัทธาในจตุคามรามเทพนั้น ดำเนินไปในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ในช่วงแรกยังค่อยไม่ค่อยมีผู้คนรู้จักมากนัก สร้างเป็นครั้งแรกในปี 2530 เพื่อหารายได้มาใช้ในการสร้างศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช

กระทั่งราวๆ ปี 2542 เริ่มมีคนให้ความสนใจมากขึ้นเนื่องจากมีผู้นำไปใช้และมีประสบการณ์บอกกันในลักษณะปากต่อปากว่า บูชาแล้วค้าขายดี บูชาแล้วธุรกิจไม่มีปัญหา บูชาแล้วสามารถอธิษฐานขออะไรก็ได้ มาถึงขีดสุดในปี 2549 ต่อเนื่องมาถึงปี 2550 จาตุคามรามเทพกลายเป็นวัตถุมงคลที่ได้รับความอย่างล้มหลามบางรุ่นจากราคาหลักสิบพุ่งสูงสุดไปถึงหลักล้าน

จตุคามรามเทพวัตถุมงคลยอดฮิตในอดีต
กระแสศรัทธาจาตุคามฯ ในสมัยนั้น ส่งผลทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนอยู่ในแวดวงที่เกี่ยวข้องมากมายมหาศาล โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินมูลค่าเงินหมุนเวียนของจตุคามรามเทพมีมูลค่าสูงถึง 2.2 หมื่นบาท ผลักดันจีดีพีของประเทศโตขึ้น 0.1-0.2% ถึงขนาดมีพิธีบวงสรวงกันไม่เว้นแต่ละวัน ยิ่งกว่านั้นบางรุ่นถึงขนาดสามารถขายใบจองได้อีกด้วย

มีการสร้างจาตุคามรามเทพออกมามากมายหลายรุ่น อาทิ รุ่นชนะมาร รุ่นโคตรเศรษฐี รุ่นสิริมงคล รุ่น 12 นักษัตร รุ่นปรกเกล้า รุ่นแซยิด 108 ปีขุนพันธรักษ์ราชเดช รุ่นมหาราชมหาบารมี พระผงสุริยัน-จันทรา รุ่น 2 รุ่นจักรพรรดิมหาราช รุ่นรวยไม่เลิก รุ่นจอมจักรพรรดิ รุ่นมหาเศรษฐี 1,000 ล้าน รุ่นรักพ่อ รุ่นสมบัติจักรพรรดิ รุ่นเจริญโภคทรัพย์ ฯลฯ

เซียนพระเมืองนครท่านหนึ่ง บอกเล่าว่ารายได้การสร้างจาตุคามฯ ส่วนใหญ่ตกอยู่ที่นายทุนจัดสร้าง ซึ่งนายทุนเหล่าอาศัยวัดในการจัดสร้าง โดยมีข้อตกลงกับวัดว่าต้องการรายได้จำนวนเท่าใด ส่วนต่างคือผลกำไร และนายทุนจะเป็นผู้ลงทุนจัดสร้างทั้งหมดทุกขั้นตอน ตลอดจนเป็นแม่งานในการดำเนินการทำพิธีจนเสร็จสิ้น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาคือ ผู้จัดสร้างทั้งเจตนาดีและเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ก็มีไม่น้อย

สมัยนั้นมีการวิเคราะห์ประเด็นจตุคามรามเทพฟีเวอร์ไปในทิศทางเดียวกันว่า เกิดขึ้นจากภาวะของสังคมไทยที่อยู่ในความหมิ่นเหม่ไม่แน่นอนหลายๆ ด้าน ทั้งภาวะทางเศรษฐกิจ การเมือง ความไม่ปลอดภัยในชีวิตจากสถานการณ์ลอบวางระเบิด และเหตุการณ์ความไม่สงบจากภาคใต้ เหล่านี้ส่งผลให้คนในสังคมต่างมองหาที่พึ่งทางใจ

อย่างไรก็ดี กระแสจาตุคามฯ ดันพุทธพาณิชย์ทะยานไม่หยุด ทำให้กรมสรรพากรเล็งเก็บภาษีจาตาคามฯ สำหรับผู้ผลิตจตุรามเทพในเชิงพาณิชย์ หรือทำเป็นธุรกิจเพื่อหากำไรเอง เพื่อสกัดกั้นการหาผลประโยชน์โดยมิชอบเลยทีเดียว

กล่าวสำหรับความเป็นมาของจตุคามรามเทพ เป็นที่ยอมรับกันในกลุ่มผู้นับถือว่ามีความเกี่ยวพันกับอดีตบูรพกษัตริย์ของอาณาจักรศรีวิชัย โดยเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งที่มีพระนามว่าพระเจ้าจันทรภาณุ ผู้ทรงสถาปนาอาณาจักรศรีวิชัย สถาปนาเมือง 12 นักษัตรหรือกรุงศรีธรรมาโศกราช พร้อมทั้งลงหลักปักฐานพระพุทธศาสนาอย่างถาวรบนแผ่นดินศรีวิชัย-สุวรรณภูมิ จนได้รับเทิดพระเกียรติให้เป็น “พญาศรีธรรมาโศกราช” ตามหลักพุทธศาสนานิกายมหายานเชื่อว่า พระมหากษัตริย์เป็นอวตารของพระโพธิสัตว์ ดังนั้น ผู้คนจึงนับถือจตุคามรามเทพเสมือนหนึ่งพระโพธิสัตว์ที่ทรงช่วยมนุษย์ให้พ้นจากความทุกข์ยากลำบาก

จวบจนกระแสจตุคามรามเทพค่อยๆ บรรเทาเบาบางลงในสังคมไทย แต่ความศรัทธายังคงอยู่มิเสื่อมคลาย


ถึงยุค ไอ้ไข่ แผงฤทธิ์

หลายปีมานี้ ชื่อเสียงของกุมารเทพของ “ไอ้ไข่ แห่งวัดเจดีย์” ต.ฉลอง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช โด่งดังขึ้นเรื่อยๆ เกิดกระแสมีความนิยมกราบไหว้บูชาไปทั่วประเทศไทย ดูจากกรณีล่าสุดผู้คนทั่วสารทิศแห่ไปช่วงชิงเป็นเจ้าของวัตถุมงคล “ไอ้ไข่รุ่นยอดทรัพย์”ไปรอรับบัตรคิวใบจอง จนหลายคนถึงขั้นเป็นลมต้องหามกันไปปฐมพยาบาล มิหนำซ้ำ เกิดเหตุทะเลาะวิวาทสร้างความวุ่นวาย จนท่านเจ้าอาวาสวัดเจดีย์ต้องประกาศยุติงานไว้ก่อน

กล่าวสำหรับความเป็นมาของไอ้ไข่ ศิษย์วัดเจดีย์ มีตำนานเล่ากันต่อมาว่า เป็นวิญญาณเด็กอายุประมาณ 9 -10 ขวบ ที่เป็นลูกศิษย์ติดตามเกจิอาจารย์ดัง เมื่อครั้งท่านมาปักกลดเดินธุดงค์อยู่บริเวณวัดเจดีย์แห่งนี้ ต่อมารับมอบหมายให้ทำรับหน้าที่เฝ้าทรัพย์สมบัติในบริเวณดังกล่าว

ส่วนที่มาของชื่อเรียก “ไอ้ไข่” ต้องบอกว่าเดิมทีไม่ใช่ชื่อของกุมารเทพ แต่เป็นเพียงคำเรียกที่คนท้องถิ่นทางภาคใต้มักจะเรียกเด็กเล็กๆ โดยทั่วไปว่า “ไอ้ไข่” เล่ากันว่าชาวบ้านมักจะพบเด็กวัดเจดีย์ตนนี้ปรากฏตัวให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ทั้งๆ ที่ในวัดไม่มีเด็กวัยดังกล่าว ชาวบ้านจึงเชื่อกันว่าเป็นวิญญาณที่สถิตย์อยู่ ณ วัดเจดีย์แห่งนี้ และเรียกว่า “ไอ้ไข่” ตั้งแต่นั้นมา

อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ “ไอ้ไข่ วัดเจดีย์” เป็นที่เลื่องลือบอกเล่าปากต่อปาก เชื่อกันว่า “ขอได้ไหว้รับ” ยิ่งกระพือกระแสคนดังร่วมโปรโมทแชร์ประสบการณ์สุดเฮง แถมมีตัวอย่างให้เห็นชาวบ้านกราบไหว้บูชาได้โชคใหญ่ วัตถุมงคลไอ้ไข่พุทธคุณกุมารเทพเป็นที่กล่าวขานทั้งทางด้านโชคลาภ คุ้มครองแคล้วคลาด ประสบความสำเร็จทางด้านต่างๆ บางรุ่นราคาทะยายหลักแสนหลักล้าน

ทำให้เมื่อช่วงกลางเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ทันทีที่วัดเจดีย์เปิดรับจองวัตถุมงคล “ไอ้ไข่รุ่นยอดทรัพย์” โดยกำหนดจัดสร้างและประกอบพิธีพุทธาภิเษกในช่วงปลายปี 2563 เพื่อหาทุนพัฒนาวัด สร้างปรากฏการณ์สะเทือนเมืองนคร ผู้คนเรือนหมื่นมุ่งตรงไปยังวัดเจดีย์ ยอดจองที่พัก โรงแรม รีสอร์ท เครื่องบิน รถทัวร์ รถไฟ เต็มไปหมดแทบทุกอย่าง ร้านอาหารรอบบริเวณเนื่องแน่น

วัดเจดีย์ ออกประกาศยุติรับบัตรคิววัตถุมงคล ไอ้ไข่รุ่นยอดทรัพย์” หลังเกิดเหตุวุ่นวายตลอดจนสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2563
หรือย้อนกลับไปในช่วงช่วงวันหยุดยาวเทศกาล วันอาสาฬหบูชา - วันเข้าพรรษา ที่ผ่านมา มีฝูงชนจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศจำนวนมากแห่เดินทางมายังวัดเจดีย์ เพื่อกราบไหว้ขอพรไอ้ไข่ ตกวันละ 30,000 - 50,000 คน ส่งผลต่อภาคท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราช คาดว่าเงินสะพัดภายในจังหวัดกว่า 300 ล้าน

ไม่เพียงเท่านั้น กระแสความนิยมบูชากุมารเทพแพร่กระจายทั่วทุกหัวระแหง เกิดปรากฎการณ์ “ไอ้ไข่ฟีเวอร์” วัดในหลายพื้นที่สบโอกาสสร้างรูปปั้นจำลองไอ้ไข่ โหนกระดึงดูดผู้ศรัทธาให้เข้ามากราบไหว้บูชาทำบุญพัฒนาวัด ยกตัวอย่างเช่นที่วัดห้วยมงคล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น

ต้องบอกว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนสภาวะที่มีความเปราะบางทางจิตใจของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี ผู้คนขาดความมั่นคงในชีวิต ขาดที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวทางใจ จนต้องหันหน้าไปพึ่งพาความเชื่อ ยิ่งพุทธคุณกุมารไอ้ไข่ตอบโจทย์โดยเฉพาะเรื่องโชคลาภเงินทอง ยิ่งกระตุ้นศรัทธางมงาย คนหันมาบูชาผีขอหวยเสี่ยงโชค หวังหลุดพ้นจากความยากจนกันยกใหญ่

เกี่ยวกับพลวัตศรัทธาสู่ความงมงาย รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยา ระบุเอาไว้ว่า ความเชื่อในสังคมไทยอันที่เป็นที่พึ่งทางใจของสังคมนั้น สามารถแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ ก็คือ “แนวทางพุทธ”  หรือทางศาสนา และ “แนวทางผี”  หรือไสยศาสตร์ เนื่องจากประชาชนชาวไทยขาดความเชื่อมั่นจนต้องหันมาพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และที่น่าวิตกคือแก่นทางจิตวิญญาณของพุทธที่แท้กลับถูกละเลย

ยิ่งไปกว่านั้น เกิดกรณีการแสดงหาผลกำไรกับปรากฏการณ์ไอ้ไข่ ในประเด็นนี้   พระครูพุทธเจติยาภิมณฑ์ หรือ อาจารย์แว่น  เจ้าอาวาสวัดเจดีย์ แสดงความกังวลใจเทียบเคียงสมัยกระแสองค์จตุคามรามเทพ ช่วงปี 2544 - 2550 เพราะขณะนั้นทั่วประเทศจัดสร้างองค์จตุคามโดยไม่มีกฎระเบียบควบคุม ผลที่ตามมาคือเกิดการหลอกลวงมีประชาชนตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก โดยทางวัดไม่ต้องการให้สถานการณ์ลักษณะเดียวกัน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเกิดกรณีดารา นักร้อง บุคคลมีชื่อเสียง เดินทางเข้ามาทำรายการ ถ่ายภาพวัตถุมงคลที่นำมาวางหน้ารูปไอ้ไข่ แล้วนำไปโฆษณาเปิดให้จองเช่าบูชาโดยอ้างว่าเป็นวัตถุมงคลไอ้ไข่ที่ทางวัดจัดสร้าง ประกอบพิธีปลุกเสกที่วัดเจดีย์ กลายเป็นการหลอกลวงประชาชน แถมยังเกิดปัญหาทำนองโต้แย้งกันเรื่องลิขสิทธิ์ ไอ้ไข่ วัดเจดีย์ เกิดเหตุวุ่นวายหลังมีผู้นำวัตถุมงคลไอ้ไข่ปลอมเข้ามาภายในวัดเจดีย์ เกิดเหตุกรรมการวัดแสดงพฤติกรรมคุกคามจนกลายเป็นคดีความ

ปรากฏการณ์ไอ้ไข่ แห่งวัดเจดีย์ ตกเป็นเป้าในการแสวงหาผลประโยชน์ของคนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะมีปัญหาภายในวัด อย่างกรณีโควตาลอตเตอรี่ที่ถูกควบคุมโดยมาเฟียวัดเจดีย์ ที่กำลังเป็นประเด็นใหญ่ ตัวแทนผู้ขายลอตเตอรี่ จ.นครศรีธรรมราช ยื่นเรื่องต่อ กมธ.ศาสนาฯ เพื่อขอให้ตรวจสอบบุคคลในวัดเจดีย์ เนื่องจาดมีบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นกรรมการวัด กระทำการข่มขู่โดยใช้อิทธิพลขับไล่ผู้ค้าลอตเตอรี่ออกจากวัด เป็นต้น ทั้งนี้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องยากเกินกว่าจะปล่อยให้ท่านเจ้าอาวาสจัดเพียงลำพัง ต้องอาศัยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เข้าไปช่วยในการดูแลจัดระเบียบต่อไป

อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์การสร้างวัตถุมงคลไอ้ไข่เพื่อจัดหารายได้พัฒนาวัดเจดีย์ โดยมีการสร้างวัตถุมงคลไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ รุ่นแรก ในปี 2526 จนถึงปัจจุบัน มีวัตถุมงคลชนิดต่างๆ ออกมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นผ้ายันต์รูปแกะสลัก รูปเหรียญ รูปหล่อชนิดต่างๆ

แต่กระแสการบูชากุมารเทพไอ้ไข่แรงเกินต้าน ตลอดจนเกิดการชวนเชื่อมอมเมาพุทธศาสนิกชน ด้าน พระมหาไพรวัลย์ วรวณโณ แห่งวัดสร้อยทอง ออกมาเตือนสติกรณี “ถ้าจะบูชาอะไร ขอให้บูชาครอบครัวเถิด บูชาความรักที่เราได้จากคนที่รักเราหรือคนที่เรารัก ไม่ใช่ไปบูชาความหวังลมๆแล้งๆ บูชาวัตถุผีสาง มันป่วยการแท้ๆ”

บทความวิชาการเรื่อง “พุทธ : ไสย ไอ้ไข่วัดเจดีย์กับกระบวนการกลายเป็นสินค้า”  โดย อ.บุญยิ่ง ประทุม  สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช อธิบายปรากฏการณ์ไอ้ไข่ไว้อย่างน่าสนใจ ความว่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของ ไอ้ไข่ วัดเจดีย์ มีความเชื่อมโยงกับความเชื่อดั้งเดิมของคนไทย คือความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผีพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์ ผนวกรวมกับหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา จนกลายเป็นสินค้าสินค้าทางวัฒนธรรม

“หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เห็นถึงผู้ที่มีศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของไอ้ไข่วัดเจดีย์ และการได้วัตถุมงคลไอ้ไข่ไปบูชา และขอบนบานจนประสบ ผลสำเร็จเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ตลอดจนจากปรากฏการณ์และประสบการณ์ของคนที่เข้ามาสัมผัส และสักการะบูชาไอ้ไข่วัดเจดีย์นอกจากความศักดิ์สิทธิ์ และความศรัทธาที่เชื่อ
ว่าจะได้สมดังปรารถนาแล้วนั้น

“ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากรูปแบบการบริหารจัดการอย่างเป็น ระบบของวัดเจดีย์ในด้านต่างๆ ทั้งทางด้านการประชาสัมพันธ์การตลาด การใช้สื่อในช่องทางต่างๆ และการบริหารจัดการภายในวัดอย่างเป็นระบบโดยยึดโยงกับฐานความเชื่อและความศรัทธาที่มีต่อกุมารเทพ ไอ้ไข่วัดเจดีย์

“ทำให้เกิดมิติการพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจของชุมชน การท่องเที่ยว การค้าการลงทุนในท้องถิ่น ซึ่งเกิดจากกระบวนการจัดการความเชื่อและความศรัทธาทางด้านวัฒนธรรม คือการจัดการความเชื่อจึงมั่งเน้นตอบสนองความเชื่อความศรัทธาของคนในชุมชนเป็นสำคัญ ในการอำนวยความสะดวกตามขั้นตอนของกระบวนการทางพิธีกรรม มีบรรยากาศความขลังตามที่กลุ่มความเชื่อ และมีความศรัทธา เกิดความพึงพอใจประทับใจ รู้สึกเป็นมงคลแก่ชีวิต”

 แม้เป็นปรากฏการณ์เกิดขึ้นต่างยุคสมัย จาก “จาตุคามรามเทพ” ถึง “ไอ้ไข่ กุมารเทพ” ยังคงเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงพลวัตแห่งศรัทธาที่ยังคงมูฟอออนเป็นวงกลม ยุคสมัยเปลี่ยนผ่านแต่ความเชื่องมงายในสังคมไทยไม่ได้เลือนรางหายไป ผู้คนยังคงแสวงหาที่ยึดเหนียวทางจิตใจเช่นเดิม 




August 22, 2020 at 06:02AM
https://ift.tt/2CUglE4

สำรวจ “ศรัทธาฟีเวอร์” จาก “จาตุคามรามเทพ” ถึง “ไอ้ไข่ กุมารเทพ” - ผู้จัดการออนไลน์

https://ift.tt/2AaMG8j

No comments:

Post a Comment