Pages

Sunday, August 23, 2020

'ปิยบุตร'ย้ำข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ คือทางเดียวที่จะธำรงสถาบันกษัตริย์ให้อยู่คู่กับปชต. - กรุงเทพธุรกิจ

sallstargossip.blogspot.com

"ปิยบุตร" ย้ำข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คือทางเดียวที่จะธำรงสถาบันกษัตริย์ให้อยู่คู่กับประชาธิปไตย “สมชาย” ย้ำข้อถกเถียง “หนึ่งความฝัน” ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นประเด็นมาตั้งแต่ปี 2475 ถึงปัจจุบัน - ชี้ 10 ข้อเสนอเป็น “รอยัลลิสต์”

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2563 ที่ห้องประชุม LB1201 คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะก้าวหน้า โดยโครงการ Common School ได้จัดการบรรยายสาธารณะ Common School On Tour ในหัวข้อ “หนึ่งความฝัน: รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” โดยมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และ รศ.ดร.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมบรรยายในหัวข้อดังกล่าว โดยมีผู้สนใจร่วมฟังการบรรยาย ทั้งนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

“สมชาย” ชี้นี่ไม่ใช่ผลจากการล้างสมอง แต่เป็นเสียงแห่งยุคสมัย เสนอหลัก 3 ข้อเตรียมการต้านรัฐประหาร

โดยในส่วนของ รศ.สมชาย ระบุว่าสิ่งที่ตนจะพูดวันนี้ อยากชวนคุยไปถึงลุ่มคนที่เป็นกษัตริย์นิยม กับคนที่นิยมรัฐบาลโดยตรง เพราะการเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีความรู้สึกว่าสังคมกำลังจะพังพินาศลงหรือไม่

ข้อกล่าวหาหรือวิธีมองที่มีต่อการเคลื่อนไหวแบบนี้ มีการกล่าวว่าเพราะเยาวชนถูกล้างสมอง มีผู้อยู่เบื้องหลังให้คิดไปในลักษณะนี้ แต่ตนขอตอบง่ายๆ ว่าถ้ามีคนล้างสมองเด็กได้ คนที่กุมอำนาจ กลไกรัฐ และสื่อมากที่สุด ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์และพรรคพวกเอง นี่คือ “เสียงแห่งยุคสมัย” นี่คือเสียงที่เป็นปฏิกิริยา จากการได้รับรู้ถึงความเหลวแหลกของระบบการเมืองและสถาบันทางการเมืองของประเทศไทยมานาน เบื้องหลังคือความล้มเหลวอย่างกว้างขวางของสถาบันทางการเมืองต่างๆ ที่ตกต่ำลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นได้โยนความกลัวที่คนรุ่นตนเคยมีทิ้งไป แต่ตนก็คิดว่าเรามีเรื่องที่ต้องระมัดระวังด้วย เช่นเรื่องรัฐประหาร ที่ผ่านมาไม่ว่าจะปี 2549 หรือ 2557 เราไม่เคยเตรียมเรื่องเหล่านี้เอาไว้เลย คำถามคือถ้าเกิดขึ้นเราจะทำอะไรกัน เราต้องคิดที่จะต้องรับมือกับการทำรัฐประหารเอาไว้ด้วย เพราะอย่าคิดแต่ว่าการรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้น ซึ่งตนเสนอว่าการต้านรัฐประหาร อย่างน้อยต้องอยู่บนหลักการสามข้อ คือ 1) ไม่ใช้ความรุนแรง 2) ไม่ทำให้ผู้ต้านรัฐประหารต้องสุ่มเสี่ยง และ 3) ต้องทำให้คนทุกคนร่วมกันได้

159818427535

ย้ำข้อถกเถียง “หนึ่งความฝัน” ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นประเด็นมาตั้งแต่ปี 2475 ถึงปัจจุบัน - ชี้ 10 ข้อเสนอเป็น “รอยัลลิสต์”

รศ.สมชายกล่าวต่อไปอีก ว่าพลันที่นายอานนท์ นำภา ได้พูดข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงข้อเสนอ 10 ข้อจากเวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน ก็ได้ทำให้เกิดข้อถกเถียงเป็นอย่างมาก และทำให้ดูเป็นข้อเสนอที่แหลมคม แต่ตนยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่ไม่เคยมีการถกเถียงกันมาก่อนเลย

หลังปี 2550 เป็นต้นมา เอาเข้าจริงไม่ว่าจะเป็นฝ่ายกษัตริย์นิยมและฝ่ายเสรีประชาธิปไตย ต่างมีข้อถกเถียงว่าด้วยการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง แม้แต่ฝ่ายกษัตริย์นิยมก็มีข้อเสนอเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน เช่นสุลักษณ์ สิวลักษณ์, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, ธงทอง จันทรางสุ ต่างก็เคยมีข้อเสนอออกมาและมีการถกเถียงกันมาโดยตลอด

สิ่งที่ตนอยากบอกกับสังคมไทยและฝ่ายที่กำลังรู้สึกตระหนกตกใจ ที่มีการพูดถึงประเด็นการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ คือนี่ไม่ใช่ประเด็นใหม่เลย ในทศวรรษที่ผ่านมามีการพูดเรื่องนี้บ่อยครั้ง เพียงแต่ที่ผ่านมาเราอยู่ภายใต้การครอบงำของฝ่ายอำนาจนิยม ฝ่ายที่ใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือ ที่ทำให้ประเด็นเหล่านี้ไม่สามารถขยับไปข้างหน้าได้

ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่สืบเนื่องมาในสังคมไทยตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2547 แล้ว ที่เปลี่ยนแปลงจากระบอบกษัตริย์เหนือกฎหมาย มาเป็นระบอบกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย และมีการรอมชอมกันจนเป็นที่พึงพอใจ แต่ยังอยู่ภายใต้หลักการสามเรื่องที่ตรงกัน นั่นคือ 1) การที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน 2) กษัตริย์อยู่ในสถานะเหนือการเมือง และ 3) The King Can Do No Wrong ว่าการกระทำใดๆเกี่ยวกับราชการแผ่นดินต้องมีคนลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ไม่สามารถกระทำเองได้ เพื่อที่จะไม่ต้องเป็นผู้รับผิดทางการเมือง

สิ่งเหล่านี้คือหลักการที่ถูกสถาปนาขึ้นมาอย่างน้อยในช่วง 15 ปีแรกของคณะราษฎร แต่หลังปี 2492 สืบมาได้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น นั่นคืออาการแยกแย้งของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เกิดเส้นทางที่แยกหรือที่แย้งกันเอง เมื่อทหารกลับมามีบทบาททางการเมืองพร้อมกลุ่มอนุรักษ์นิยม ที่กลับมาผลักดันอุดมการณ์กษัตริย์นิยมพร้อมกันไปด้วย

การจัดวางตำแหน่งแห่งที่หลังจากนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญ และเปลี่ยนไปมากยิ่งขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เกิดข้อถกเถียงใหญ่เกิดขึ้น สี่ประเด็นใหญ่ คือ 1) ที่มาของอำนาจอธิปไตย “เป็นของ” หรือ “มาจาก” ปวงชนชาวไทย 2) สถานะเหนือการเมืองมีความหมายว่าอย่างไร รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์หรือไม่ กิจการใดบ้างที่ถือเป็นเรื่องส่วนพระองค์ เรื่องไหนเป็นเรื่องของราชการแผ่นดิน 3) ขอบเขตของคำว่าอันล่วงละเมิดมิได้ หมายถึงเฉพาะการกระทำทางการเมือง หรือรวมถึงเรื่องส่วนพระองค์ด้วย ประเด็นนี้การมีบทบาทของมาตรา 112 มากขึ้นในเวลาต่อมาทำให้เรื่องนี้มีความซับซ้อนยิ่งขึ้นอีก

ดังนั้นเรื่องของ “หนึ่งความฝัน” ตั้งแต่ปี 2475 มา ไม่เคยหยุดนิ่ง แต่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ จากระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ มาสู่ระบอบประชาธิไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นได้อย่างขัดเจน

“ถึงตอนนี้ท่ามกลางการเคลื่อนไหวที่เราเห็น ผมอาจจะเป็นกังวลอยู่พอสมควร ที่มีคนพยายามจะพูดถึงการ “ล้มเจ้า” แต่เท่าที่ผมฟังการเคลื่อนไหวมา ไม่ว่าจะคุณอานนท์ นำภา ฟังเวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน เท่าที่ฟังทั้งหมด สิ่งที่เสนอต่างๆจัดได้ว่านี่คือพวกรอยัลลิสต์นะ เพราะทั้งหมดคือยืนยันว่าต้องการระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ผมนั่งอยู่ ให้ตายอย่างไรก็ตามผมยังไม่ได้ยินคำว่าสาธารณรัฐ ทั้งหมดที่เคลื่อนกันนี่ภายใต้กรอบของรอยัลลิสต์เลย เพียงแต่ว่าอาจจะเป็นรอยัลลิสต์แบบที่เป็นเสรีประชาธิปไตย หมายความว่าเป็นรอยัลลิสต์ที่ต้องการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กรอบระบอบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย มีการตรวจสอบ มีการกำกับ มีการควบคุมอย่าที่นานาอารยะประเทศที่ยึดระอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเขาใช้กัน การเคลื่อนทั้งหมดที่ผ่านมาผมเห็นภาพของคนที่ยืนยันในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ผมคิดว่านี่เป็นหลัการที่เราจะต้องทำความเข้าใจร่วมกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ไม่ได้รับฟังการอภิปรายหรือการนำเสนอเนื้อหา” รศ.สมชายกล่าว

รศ.สมชายกล่าวต่อไป ว่าฝ่ายกษัตริย์นิยมตอนนี้ต้องยอมรับกันว่าตราบที่เราอยู่ในระบอบเหล่านี้ หลักการ The King Can Do No Wrong ต้องทำให้มีความชัดเจนขึ้น เวลาเราพูดถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตนอยากให้เราพิจารณาประเด็นนี้ในเชิงสถาบัน ไม่ใช่เชิงตัวบุคคล นี่คือการปรับแก้โครงสร้างในเชิงที่เป็นทางการ และข้อเสนอส่วนใหญ่ควรมุ่งไปในทางการจัดการในเชิงถาบัน

“คนที่พยายามผลักดันตอนนี้เขาพยายามยืนตามระบบ พยายามผลักดันผ่านระบบที่เขารู้ว่ามันจะยุ่งยาก เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ที่เขายังลักดันผ่านระบบอยู่ ผมคิดว่าไม่มีทางที่มันจะกลายเป็นการกระด้างกระเดื่อง หรือกลายเป็นการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย ตามที่ตำรวจมาแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 116 อย่างน้อยผมคิดว่ากลุ่มที่เป็นฝ่ายรอยัลลิสต์ นี่เป็นประเด็นที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ผมอยากจะยืนยันว่าสิ่งที่เราเห็นในวันนี้ไม่ได้เป็นการเคลื่อนไหวที่มีใครอยู่เบื้องหลัง ผมคิดว่านี่คือเสียงรียกร้องของยุคสมัย ของกลุ่มคน เยาวชน นักศึกษา หรือกระทั่งกลุ่มคนอื่นๆก็ตาม ที่เราได้อยู่ร่วมกันเป็นประจักษ์พยานถึงปัญหาต่างๆที่มันทับถมในสังคมนี้มาอย่างยาวนาน สิ่งที่เสนอขึ้นมา สิ่งที่ผลักดัน รวมถึงการชุมนุมที่เกิดขึ้น ผมคิดว่านี่คือข้อเรียกร้องของคนในยุคสมัยนี้ หวังว่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยนี้” รศ.สมชายกล่าวทิ้งท้าย

159818427621

“ปิยบุตร” ย้ำไม่ควรล็อคหมวด 1,2 ไม่ให้แก้ - ยกกรณีพระราชกระแส ร.10 รับสั่งให้แก้หมวด 2 - ย้ำยิ่งล็อคยิ่งสร้างทางตัน

ด้านนายปิยบุตร กล่าวว่าสิ่งที่เราต้องยอมรับ คือธรรมชาติของสถาบันพระมหากษัตริย์คือสิ่งที่ล้าสมัยไปแล้วกับโลกสมัยใหม่ ความล้าสมัยคือ 1) การเอาอำนาจสูงสุดไปอยู่ไว้ที่คนๆ เดียว 2) คนๆ นั้นสืบทอดมาตามสายเลือด 3) การไม่แบ่งแยกเรื่องสาธารณะกับเอกชนออกจากกัน แต่เหตุใดหลายๆประเทศยังคงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ได้อยู่

หากเราไปดูในประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงจากระบอบกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมายเกิดขึ้นเพียงสองทางเท่านั้น คือกลายมาเป็นระบอบกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย (Constitutional Monarchy) หรือกลายมาเป็นสาธารณรัฐ สุดท้ายถ้ากษัตริย์ไม่ปรับตัว หน่วยอำนาจใหม่ชนะก็จะกลายเป็นสาธารณรัฐ แต่ถ้าไปดูประเทศที่เปลี่ยนมาเป็น Constitutional Monarchy ได้ ก็เพราะกษัตริย์ยอมลดทอนอำนาจตัวเองลงให้มาอยู่ใต้ระบอบประชาธิปไตยเพื่อรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้

เมื่อกลับมามองประเทศไทย เรารู้จักคำว่า Constitutional Monarchy ครั้งแรกก็เมื่อการอภิวัฒน์สยาม 2475 หน่วยอำนาจเดิมกับหน่วยอำนาจใหม่ก็ขัดแย้งกันเป็นปกติ ตัวบทที่เขียนในรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 ก็มีการมองต่างกัน ว่าพระองค์จะมีส่วนในอำนาจบริหารด้วย หรืออำนาจทั้งหมดควรอยู่ที่รัฐบาล ความเห็นต่างในส่วนนี้ขับเคลื่อนมาเรื่อยๆจนกระทั่งพัฒนาการมาเป็นคำว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในปัจจุบัน และหลังรัฐประหารปี 2549 ก็ถูกผลิตซ้ำมากขึ้นทุกวัน

ความเห็นต่างนี้ ยังสะท้อนให้เห็นในการขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนี้ ในเรื่องของการจะเปิดให้มีการแก้ หมวด 1, หมวด 2 ได้ด้วยหรือไม่ด้วย ซึ่งตนก็ต้องยืนยันว่าหมวด 1, หมวด 2 มีการแก้ไขมาโดยตลอด ต่อให้แก้อย่างไรก็แก้โดยเปลี่ยนระบอบไม่ได้ มันล็อคเอาไว้แล้วในรัฐธรรมนูญ ถ้าวันหนึ่งเกิดมีความจำเป็นต้องแก้จะต้องทำอย่างไร

อย่างเช่นในรัฐธรรมนูญปี 2560 หลังผ่านการประชามติ ก็มีพระราชกระแสรับสั่งให้มีการแก้หมวด 2 มาจากในหลวงรัชกาลที่ 10 ทำให้รัฐบาลต้องไปหาทางที่จะแก้ไขในส่วนนี้ รัฐธรรมนูญปี 2560 เองก็ระบุไว้ว่าแก้ได้แต่ต้องไปผ่านประชามติ คำถามจึงมีอยู่ว่าถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้อีกแล้วมีการล็อคไปห้ามไม่ให้แก้แล้วจะต้องทำอย่างไร?

“บางทีผมก็อึดอัดคาใจ ว่าคนที่ด่าผมเรื่องไม่จงรักภักดี ผมพยายามหาวิธีการมันไม่มีการปะทะขัดแย้งกัน เขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้จะทำให้ไปสู่ทางตัน เขียนนล็อคไว้ว่าหมวด 1, หมวด 2 แก้ไม่ได้ แล้วถ้าเกิดมีความจำเป็นต้องแก้จริงๆคุณจะทำอย่างไร? เขียนรัฐธรรมนูญคุณบอกหมวด 2 ต้องไปประชามติ แลวถ้าเกิดมีการแก้รัฐธรรมนูญหมวด 2 เหมือนเหตุการณ์ที่ผ่านมาตามพระราชกระแสรับสั่งแล้วคุณเอาไปประชามติ แล้วคุณคุมได้เหรอประชามติ? กลายเป็นว่าคนเขียนรัฐธรรมนูญเป็นพวกวิธีคิดแบบล้นเกิน คุณล้นเกินไปหมดทุกเรื่องตั้งแต่คำว่า “อันมีฯ” ใครไม่พูด “อันมีฯ” กลายเป็นคนที่คิดอะไรอยู่ เป็นเรื่อง เท่ากับล้มล้าง ไม่ห้ามแก้หมวด 1, หมวด 2 เท่ากับจะแก้ มันล้นเกินไปหมด ป้องกันตัวเองจนกลัวไปหมด ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาอย่างยิ่ง” นายปิยบุตรกล่าว

159818427623

ย้อน timeline จาก Constitutional Monarchy สู่ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีฯ” ชี้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมทำให้กลายเป็นเรื่องคลุมเครือ-ไม่เป็นแบบประชาธิปไตยสากล

นายปิยบุตร กล่าวต่อไป ว่าถ้าเราลองไปดูประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญมา การถกเถียงกันถึงตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องปกติที่ทำกันมาโดยตลอด ผู้ที่ถกเถียงก็เป็นระดับเจ้าพระยา ขุนนางระดับสูง เป็นเชื้อพระวงศ์ เป็นกลุ่มกษัตริย์นิยม เคยมีการพูดชัดเจนถึงขั้นว่าเราจะจัดวางสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไรให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย

เรื่องนี้เราเคยมีการพูดกันในสภามาโดยตลอด มาระยะหลังจึงเริ่มไม่พูดกัน ทุกวันนี้กลายเป็นว่าใครพูดเป็นเรื่องแหลมคม ทั้งๆที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องพูดด้วยซ้ำ หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อเราต้องพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ

เราเป็นรัฐเดี่ยว เป็นราชอาณาจักร เป็นประชาธิปไตย มาตรา 1 ยืนยันเรียบร้อยแล้วว่าเราเป็นราชอาณาจักร มาตรา 2 ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คือ มีประชาธิปไตยเป็ยระบอบการปกครองและมีพระมหากษัตริย์เป็นประมึขของรัฐ ของราชอาณาจักร การดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสอดคล้องกับประชาธิปไตย แต่ทุกวันนี้เรากำลังพูดกันราวกับว่ามันไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบที่เขาเป็นกันในโลก ไม่ใช่แบบที่ Constitutional Monarchy เป็นกัน

สิ่งที่ตนเรียกร้องมาเสมอต่อฝ่ายอนุรักษ์นิยม คือขอนิยามที่ชัดเจนแท้จริงของคำว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” หน่อย แต่ก็ไม่เคยมีใครนิยามให้เราเห็นได้เลย ฝ่ายอนุรักษ์นิยมหลีกเลี่ยงไม่เคยพูดถึงเลย แต่กลับทำให้มันคลุมเครือจนกลายเป็นว่าใครพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้เลย พัฒนาการไปจนถึงขั้นว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไม่ต้องนิยามอะไรเลย

“ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมตั้งแต่ก่อน 2475 จนถึงวันนี้ เขาจะชอบที่จะใช้วิธีคลุมเครือแบบนี้ เพราะถ้าคุณยืนยันว่าตรงไหนที่เป็นพระราชอำนาจ ผ่านลายลักษณ์อักษร มันเปลี่ยนได้ตลอดเวลา แก้ได้ตลอดเวลา แต่ถ้าคุณคลุมเครือผ่านประเพณี ผ่านความคิด ผ่านความเชื่อ คุณแก้มันในชั่วข้ามคืนไม่ได้ คุณต้องใช้เวลา ดังนั้นฝ่ายอนุรักษ์นิยมเขาถึงชอบจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญ เขาไม่ชอบกฎหมายรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร” นายปิยบุตรกล่าว

ชี้ 4 การเปลี่ยนแปลงใหญ่ในรัฐธรรมนูญเพิ่มพระราชอำนาจ - 3 ครั้งเกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร

นายปิยบุตรกล่าวต่อไป ว่าสำหรับตนแล้ว ถ้าเกณฑ์ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเอาไว้ คือการธำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย ให้ธำรงอยู่ต่อไปในโลกสมัยใหม่ เราจะต้องสร้าง Constitutional Monarchy และ Parliamentary Monarchy ขึ้นมาให้ได้

ในประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2475 จนถึง 2563 มีการเปลี่ยนแปลงตัวบทกฎเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์อย่างมีนัยสำคัญอยู่ 4 ครั้ง

ครั้งแรก คือจากรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 ไปสู่รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 เปลี่ยนอย่างชัดเจนโดยเอาถ้อยคำที่บอกว่า “องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” เขียนเข้ามาจากที่ก่อนหน้านั้นไม่มี มีการเปลี่ยนเรื่องการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ จากระบุว่าต้องให้มีรัฐมนตรี “ลงนามกำกับ” ถ้าไม่มีเป็นโมฆะ มาเป็นจะต้องมีรัฐมนตรี “รับสนอง” แต่ไม่ได้กำหนดผลในกรณีไม่มีการรับสนอง

ครั้งที่สอง จากรัฐธรรมนูญ 2489 มาเป็นรัฐธรรมนูญ 2490-2492 เป็นการเขียนรัฐธรรมนูญที่รื้อฟื้นพระราชอำนาจกลับมา หลังจากฝ่ายกองทัพและฝ่ายกษัตริย์นิยมกลับมามีอำนาจ ปิดฉากคณะราษฎร เปลี่ยนเอาสถาบันทางการเมืองที่มีอยู่สมัยสมบูรณายาสิทธิราชย์กับมาใหม่ เช่นอภิรัฐมนตรี ที่ต่อมากลายเป็นองคมนตรีมาไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมถึงการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และการห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ ก็เกิดขึ้นในสมัยนี้

ครั้งที่สาม การเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญ 2534 เปลี่ยนเรื่องของการขึ้นครองราชย์ จากเดิมเสนอชื่อตามกฎมณเฑียนบาลให้สภาเห็นชอบ มาเป็นการรับทราบเท่านั้น เช่นตอนรัชกาลที่ 9 ขึ้นครองราชย์ มีการอภิปรายในสภาและมีการลงมติ แต่สมัยรัชกาลที่ 10 ไม่มีการอภิปรายกันในสภา มีเพียงการเอาชื่อมาบอกแล้วรับทราบเท่านั้น และการแก้ไขกฎมณเทียรบาลจากเดิมต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบเหลือเพียงให้รัฐสภารับทราบ

ครั้งที่สี่ การเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญปี 2560 จากเดิมเรายึดหลักการว่าถ้ากษัตริย์ไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร จะต้องมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้น แต่ถ้าไม่ได้ตั้งก็ให้ประธานองคมนตรีมาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2560 เกิดขึ้นเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 10 มีพระราชกระแสรับสั่งลงมา ให้มีการแก้ไขว่าจะตั้งหรือไม่ตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ได้ในมาตรา 16

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงทั้ง 4 ครั้ง เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารถึง 3 ครั้ง

159818427513

ยก 6 ข้อรัฐธรรมนูญ-กฎหมายขัดกับหลักการ Constitutional Monarchy 

นายปิยบุตรกล่าวไปอีก ว่าเมื่อเรามาพิจารณาดู ว่ามีกฎเกณฑ์ในทางรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เรื่องใดบ้างที่อาจจะไม่สอดคล้องกับหลักการ Constitutional Monarchy ซึ่งตนรวบรวมมาเห็นว่ามี 6 ประการด้วยกัน

1) อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ก็คืออำนาจในการเขียนและกำหนดรัฐธรรมนูญ อำนาจก่อตั้งระบอบการปกครอง ในยุคประชาธิปไตยเรายืนยันว่าอำนาจต้องเป็นของประชาชน แต่ในทางปฏิบัติของรัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่ฉบับแรกจนถึงฉบับนี้ เรื่องนี้เป็นปัญหาคลุมเครือมาโดยตลอด ฝ่ายกษัตริย์นิยมก็ยืนยันมาโดยตลอดว่าเป็นของพระมหากษัตริย์ รวมถึงศาลรัฐธรรมูญชุดที่ผ่านมา ก็เคยวินิจฉัยลงไปอย่างชัดเจนว่าเป็นของพระมหากษัตริย์ ประกอบกับพระราชกระแสรับสั่งให้แก้ร่างรัฐธรรมนูญ 60 ที่ผ่านประชามติมาแล้ว ทั้งหมดนี้เสมือนยืนยันไปแล้วว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของไทยเป็นของพระมหากษัตริย์

2) ความคลุมเครือในการแบ่งแยกทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (The Crown) กับส่วนพระองค์ (The Person) โดยเฉพาะเมื่อมีการแก้ไข พ.ร.บ.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในปี 2560-2561 ต่อเนื่องกัน ทำให้การแบ่งทรัพย์สินระหว่างส่วนพระมหากษัตริย์กับส่วนพระองค์คลุมเครือปนกัน ที่ผ่านมามีการแยกทรัพย์สินส่วนพระองค์กับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกจากกัน แต่กฎหมายใหม่ปี 2561 รวมเอาทั้งทรัพย์สินส่วนพระองค์ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เอามาไว้ด้วยกัน ในชื่อของ “ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” โดยปกติแล้ว รัฐสมัยใหม่ต้องยึดหลักการในการแยกสองส่วนนี้ออกจากกัน

และยังมีการแก้ไขส่วนสำคัญอีก คือในมาตรา 5 การหมดสถานะความเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ต้องได้รับพระบรมราชานุญาติจากพระมหากษัตริย์เท่านั้น และยังมีการเปลี่ยนในมาตรา 7 ให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นหน่วยงานในพระมหากษัตริย์

3) เรื่องของผู้สำเร็จาชการในพระองค์ สุภาษิตกฎหมายมีการกล่าว่า ราชบัลลังก์ไม่ใช่เก้าอี้ที่ว่างเปล่าได้ นั่นหมายความว่าตำแหน่งประมุขของรัฐเป็นหมุดที่ประกันความต่อเนื่องของรัฐ ตำแหน่งประมุขของรัฐคือภาพแทนของรัฐหนึ่งๆ มีความสำคัญในทางสัญลักษณ์เช่นนี้ รัฐจะขาดประมุขของรัฐไม่ได้ จึงเป็นที่มาของการเขียนบทบัญญัติว่าในกฎหมายไว้ว่าถ้าประมุขของรัฐถ้าไม่ประทับอยู่ในประเทศต้องมีคนมารักษาการแทน

ประเทศไทยก็เป็นแบบนี้มาโดยตลอด แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ได้แก้กฎเกณฑ์เรื่องนี้ไปเสีย ในมาตรา 16 ในกรณีพระมหากษัตริย์ไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร จะแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้

4) มีความคลุมเครือในเรื่องสถานะของหน่วยงาน ตามปกติแล้วองค์กรของรัฐองค์กรใดก็ตาม มีเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีการใช้งบประมาณแผ่นดิน เราจะเรียกกันรวมๆว่าหน่วยงานของรัฐ แต่ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ปี 2560 ที่มีการแก้ไข ได้กำหนดไว้ว่าส่วนราชการในพระองค์ไม่เป็นส่วนราชการ และไม่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ก็ไม่ใช่เอกชนด้วย เพราะคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้ จึงกลายเป็นองค์กรที่ยังจัดประเภทสถานะให้ไม่ได้

5) หลักการ The King Can Do No Wrong ที่ต้องให้มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ รับผิดชอบในทางการเมือง พระมหากษัตริย์ต้องไม่ทรงกระทำอะไรด้วยพระองค์เอง เป็นอำนาจของรัฐบาลเท่านั้น เพื่อไม่ให้พระมหากษัตริย์ต้องรับผิดทางการเมือง แต่กฎหมายหลายฉบับที่มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจโดยแท้ในเรื่องสาธารณะหลายประการ แต่ทว่าความคุ้มกันนี้ก็ยังคงอยู่

6) ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หลายๆประเทศมีอยู่แต่ไม่ใช้ บางประเทศออัตราโทษต่ำมาก บางประเทศก็ไม่มีแล้ว ส่วนประเทศไทยที่มีการเพิ่มโทษในปี 2519 ให้โทษสูงขึ้นเป็น 3-15 ปี และกำหนดโทษขั้นต่ำเอาไว้เป็นการจำคุก 3 ปี ซึ่งเป็นโทษที่สูงยิ่งกว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสียอีก

ที่สำคัญคือการเอามาตรา 112 ไปอยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐ และให้บุคคลใดร้องทุกข์กล่าวโทษได้ทั้งสิ้น ที่ผ่านมาการตีความของศาลได้เกินตัวบทกฎหมายไปมากแล้วด้วย เช่น ครอบคลุมไปถึงพระมหากษัตริย์องค์ก่อนๆ หรืออย่างคดีล่าสุดขยายความรัชทายาทให้รวมถึงสมเด็จพระเทพฯ ด้วย

159818427549

ทั้งหมด 6 ประการล้วนเป็นกฎเกณฑ์ตามรัธรรมนูญและกฎหมาย ที่มีปัญหาไม่สอดคล้องกับหลักการ Constitutional Monarchy

ย้ำปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น คือการต่อสู้เพื่อธำรงรักษาสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ

จากนั้น นายปิยบุตรได้สรุปถึงประเด็นข้อเสนอที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยระบุว่า

1) การอภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องปกติ และเมื่อต้องพูดเรื่องรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย ระบอบการปกครอง เป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องพูดถึงเรื่องของสถาบันกษัตริย์ด้วย ก็เพื่อจะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย เป็นวิธีการเดียวที่หลงเหลืออยู่ในศตวรรษที่ 21 ที่จะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ให้ได้

2) คำว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็็นประมุข มีพัฒนาการมาตั้งต่ปี 2475 เคลื่อนไหวไปตามบริบท

3) พระราชอำนาจคือสิ่งที่เพิ่มขึ้นได้ลดลงได้ตามแต่ยุคสมัย ตามตัวบทในกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และปัจจัยบังคับที่ไม่ใช่กฎหมาย สภาพการณ์ในความเป็นจริงของยุคสมัย เช่น รัฐธรรมนูญนอร์เวย์ ที่มีถ้อยคำเหมือนมาตรา 6 ว่าองค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ แต่ไม่มีเหตุปัจจัยอื่นมาบังคับ ให้คนนอร์เวย์ห้ามวิจารณ์กษัตริย์
ในขณะที่ประเทศไทยมีมาตรา 112 และก็อธิบายว่านี่คือบทขยายความให้การเป็นที่เคารพสักการะ ผู้มดละเมิดมิได้เกิดขึ้นได้จริง

หรือมีตัวบทยืนยันว่าการแก้รัฐธรรมนูญหมวด 2 พระมหากษัตริย์ทำได้ แต่ก็มีเหตุปัจจัยบังคับกดดันให้ ส.ส. จำนวนมากไม่คิดแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 2 ทั้งๆ ที่แก้ได้

การเพิ่มขึ้นของพระราชอำนาจจึงเกิดขึ้นจากสองปัจจัยพร้อมๆกัน ทั้งปัจจัยในตัวบทกฎหมาย และปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่ตัวบทกฎหมาย

“สุดท้าย ประการที่ 4) ผมคิดว่านี่คือช่วงเวลาแห่งการต่อสู้ช่วงชิงกันในทุกๆมิติ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย มันมีทั้งการต่อสู้ในเรื่องความคิดอุดมการณ์ และการต่อสู้กันในเรื่องของอำนาจรัฐด้วย มันเป็นช่วงยามที่กำลังจะขยับกันว่าตัวบทจะอยู่ตรงไหน เหตุปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่ตัวบทจะอยู่ตรงไหน เพื่อที่จะออกแบบให้สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นสอดคล้องกับประชาธิปไตย ธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” นายปิยบุตรกล่าวทิ้งท้าย




August 23, 2020 at 07:04PM
https://ift.tt/2YtNjTb

'ปิยบุตร'ย้ำข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ คือทางเดียวที่จะธำรงสถาบันกษัตริย์ให้อยู่คู่กับปชต. - กรุงเทพธุรกิจ

https://ift.tt/2AaMG8j

No comments:

Post a Comment