องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) ร่วมกับองค์การอวกาศยุโรป (อีซา) ได้เริ่มภารกิจสำคัญในการนำตัวอย่างหินและดินจากดาวอังคารกลับมายังโลก โดยใช้หุ่นยนต์ตระเวนสำรวจ (robotic rover) 2 ตัว ทำหน้าที่เก็บตัวอย่างที่ดีที่สุด แล้วใช้ระบบขนส่งอันซับซ้อนละเอียดอ่อนเพื่อนำวัสดุดังกล่าวกลับมาวิเคราะห์ที่โลก
ภารกิจสำรวจดาวอังคารครั้งก่อน ๆ พบหลักฐานทางธรณีวิทยาที่บ่งชี้ว่าดาวดวงนี้อาจมีสภาพที่เหมาะต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตเมื่อหลายพันล้านปีก่อน
นักวิทยาศาสตร์จึงหวังว่าการศึกษาตัวอย่างหินและดินจากดาวอังคารในภารกิจล่าสุดที่มีชื่อว่า Mars 2020 นี้ จะช่วยไขปริศนาที่มนุษย์สงสัยกันมาเนิ่นนานว่าที่ดาวอังคารเคยมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่หรือไม่
"เพอร์เซเวียแรนซ์" (Perseverance) หุ่นยนต์ตระเวนสำรวจล่าสุดที่องค์การนาซาสร้างขึ้นได้ออกเดินทางสู่ดาวอังคารแล้ว และมีกำหนดลงจอดในเดือน ก.พ.ปี 2021 ด้วยวิธีที่เรียกว่า "สกายเครน" (sky crane) โดยใช้อุปกรณ์ลักษณะเหมือนร่มชูชีพขนาดใหญ่ และเครื่องยนต์จรวด เพื่อช่วยชะลอความเร็วในการลงจอด จากนั้นอุปกรณ์ดังกล่าวจะใช้สายเคเบิลค่อย ๆ หย่อนหุ่นยนต์สำรวจลงบนพื้นผิวดาวอังคาร
เพอร์เซเวียแรนซ์ เป็นหุ่นยนต์ตระเวนสำรวจ 6 ล้อ ซึ่งติดตั้งอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ล้ำสมัยมากมาย อาทิ กล้อง 23 ตัว และอุปกรณ์ขุดเจาะ จะค้นหาสัญญาณสิ่งมีชีวิตโบราณที่อาจเคยอาศัยอยู่บนดาวอังคารเมื่อหลายพันล้านปีก่อนบริเวณ "แอ่งหลุมอุกกาบาตเยเซโร" (Jezero crater) ซึ่งมีหลักฐานบ่งชี้ว่าเคยเป็นแหล่งน้ำในอดีต
เพอร์เซเวียแรนซ์ จะเก็บตัวอย่างหินและดินที่มีลักษณะบ่งชี้ว่าได้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงจากการสัมผัสกับจุลินทรีย์ในบริเวณดังกล่าว
เมื่อพบหินและดินที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว เพอร์เซเวียแรนซ์ จะทำการขุดเจาะและเก็บตัวอย่างที่ได้ใส่กระป๋องโลหะขนาดเท่าแท่งชอล์ก แล้ววางทิ้งไว้บนพื้นผิวดาวอังคาร จากนั้นจะออกปฏิบัติภารกิจในบริเวณอื่นต่อไป
แหล่งพลังงานจากพลูโตเนียมของเพอร์เซเวียแรนซ์จะทำให้หุ่นยนต์ตระเวนสำรวจคันนี้แล่นไปทั่วดาวอังคารได้ถึง 10 ปีหรือนานกว่านั้น
จากนั้นในช่วงปลายทศวรรษนี้ คือหลังจากปี 2026 เป็นต้นไป หุ่นยนต์ตระเวนสำรวจคันที่สองที่สร้างโดยอีซา ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า จะเดินทางไปถึงดาวอังคาร
โดย "หุ่นยนต์เก็บกู้" ตัวนี้จะตระเวนไปทั่วพื้นผิวดาวอังคาร เพื่อเก็บตัวอย่างหินและดินที่เพอร์เซเวียแรนซ์ทิ้งเอาไว้
จากนั้น กระป๋องโลหะที่มีตัวอย่างหินและดินจะถูกบรรจุในภาชนะนิรภัย แล้วนำไปใส่ไว้ในจรวดขนาดเล็กที่มีชื่อว่า Mars Ascent Vehicle (MAV) ซึ่งจะถูกยิงขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อส่งภาชนะนิรภัยดังกล่าวขึ้นสู่วงโคจรของดาวอังคาร
ดาวเทียมยุโรปจะไปรอรับภาชนะบรรจุตัวอย่างหินและดินที่วงโคจรของดาวอังคาร โดยทำหน้าที่เป็นยานลำเลียง นำหินและดินที่ล้ำค่านี้กลับมายังโลก
คาดว่าดาวเทียมดังกล่าวจะยังเดินทางมาไม่ถึงโลกจนกว่าจะถึงปี 2031 เป็นอย่างน้อย ซึ่งในตอนนั้นภาชนะใส่ตัวอย่างหินและดินจะถูกบรรจุไว้ในแคปซูลที่ได้รับการปกป้องอย่างแน่นหนาสำหรับส่งมายังชั้นบรรยากาศโลก เพื่อให้ตกลงสู่ตำแหน่งที่กำหนดไว้ในทวีปอเมริกาเหนือ
ทีมนักวิทยาศาสตร์จะใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยในการศึกษาตัวอย่างหินและดินจากดาวอังคาร ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีที่ยังไม่มีการคิดค้นขึ้นในปัจจุบันด้วย
คาดว่าวัสดุที่ได้จะเพียงพอสำหรับการศึกษาในช่วงอีกหลายทศวรรษข้างหน้า และตัวอย่างเหล่านี้จะช่วยไขปริศนาประวัติศาสตร์ของดาวอังคาร และจะช่วยให้เราได้ทราบว่านั่นจะเคยมีสภาพที่เหมาะสมต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตเมื่อหลายพันล้านปีก่อนหรือไม่
August 04, 2020 at 11:47AM
https://ift.tt/3kaO24Q
ดาวอังคาร: Mars 2020 กับภารกิจค้นหาร่องรอยสิ่งมีชีวิตโบราณบนดาวเคราะห์สีแดง - บีบีซีไทย
https://ift.tt/2YfjZyP
No comments:
Post a Comment