Pages

Thursday, July 23, 2020

'จีน-สหรัฐ' แข่งเดือด เร่งสำรวจดาวอังคาร - กรุงเทพธุรกิจ

sallstargossip.blogspot.com

24 กรกฎาคม 2563

241

การขับเคี่ยวระหว่างสหรัฐกับจีนไม่ได้หยุดแค่โลกมนุษย์ แต่ยังแข่งขันถึงในห้วงอวกาศ วานนี้ (23 ก.ค.) จีนปล่อยยานสำรวจสู่ดาวอังคาร ขณะที่สหรัฐมีกำหนดการปล่อยยานอวกาศไปดาวแดงในวันที่ 30 ก.ค.นี้เช่นกัน

ทั้งสองประเทศต่างใช้ประโยชน์ในช่วงที่โลกและดาวอังคารเข้าใกล้กันมากที่สุด

เมื่อเวลา 12.41 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันพฤหัสบดี จรวดลอง มาร์ช 5 ของสำนักงานอวกาศแห่งชาติจีน (ซีเอ็นเอสเอ) ทะยานขึ้นจากฐานปล่อยจรวดภายในศูนย์อวกาศที่เมืองเหวินฉาง บนเกาะไหหลำ นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของจีน นำส่งยานสำรวจดาวอังคาร “เทียนเหวิน1” ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ

จาง ซิวยู่ ผู้บัญชาการศูนย์เผยกับสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีว่า ภารกิจปล่อยยานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

เทียนเหวิน1 แปลว่าคำถามต่อสวรรค์เป็นการตั้งชื่อตามบทกวีโบราณที่บรรยายเรื่องจักรวาล ยานลำนี้ที่มีน้ำหนัก 5 ตัน คาดว่าใช้เวลา 7 เดือน เดินทาง 55 ล้านกิโลเมตร ไปถึงดาวอังคารในเดือน ก.พ.2564

“เนื่องจากนี่เป็นความพยายามแรกของจีน ผมไม่หวังว่าจะทำอะไรได้มากกว่าที่สหรัฐเคยทำไปแล้ว” โจนาธาน แมคโดเวลล์ นักดาราศาสตร์จากศูนย์ฮาร์วาร์ด-สมิธโซเนียนเพื่อดาราศาสตร์ฟิสิกส์กล่าว

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 90 เป็นต้นมา องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (นาซา) ส่งยานสำรวจไปดาวอังคารแล้ว 4 ลำ ลำต่อไปที่จะส่งคือ “เพอร์เซอเวอแรนซ์” ในโครงการ “มาร์ส 2020” เป็นยานขนาดเท่ารถเอนกประสงค์ สำรวจหาสัญญาณจุลินทรีย์โบราณ รวบรวมตัวอย่างดินและหินกลับมายังโลกในภารกิจต่อไปปี 2574

จีนนั้นหลังจากเฝ้ามองสหรัฐกับสหภาพโซเวียตแข่งกันไปอวกาศในช่วงสงครามเย็น ก็ได้ทุ่มเทงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ทำโครงการอวกาศเพื่อการทหารเป็นหลัก

“การที่จีนร่วมแข่งกันไปดาวอังคาร จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่สหรัฐเคยเป็นผู้นำมาร่วม 50 ปี” เจิ้น หล่าน นักวิเคราะห์อิสระจากเว็บไซต์ GoTaikonauts.com เชี่ยวชาญด้านโครงการอวกาศจีนให้ความเห็น

จีนทุ่มเทความพยายามอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่งมนุษย์ไปอวกาศในปี 2546 มหาอำนาจแห่งเอเชียรายนี้วางรากฐานสร้างสถานีอวกาศภายในปี 2565 แล้วอยู่ในวงโคจรโลกอย่างถาวร

ก่อนหน้านี้ จีนเคยส่งยานสำรวจไปดวงจันทร์แล้ว 2 ลำ ยานลำที่ 2 ทำให้จีนกลายเป็นประเทศแรกที่ลงจอดบนด้านมืดของดวงจันทร์ได้สำเร็จ

ภารกิจไปดวงจันทร์ทำให้จีนมีประสบการณ์นำยานอวกาศไปไกลกว่าวงโคจรโลก แต่การไปดาวอังคารนั้นแตกต่างกันออกไป 

แมคโดเวลล์ระบุว่า ระยะทางไปดาวอังคารไกลกว่าดวงจันทร์มากมายมหาศาล หมายถึง “การเดินทางของแสงมากกว่า ดังนั้นคุณต้องทำอะไรๆ ช้าลง เพราะสัญญาณวิทยุไปกลับใช้เวลานานมาก”

ทั้งยังหมายความว่า “คุณจำเป็นต้องมีสถานีฐานบนโลกที่ไวกว่าเดิมเพราะสัญญาณจะเจือจางมากขึ้นมาก” แมคโดเวลล์กล่าวเสริมพร้อมเตือนว่า โอกาสล้มเหลวมีมากขึ้นด้วย

สัปดาห์ก่อนสำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า จีนปรับปรุงสถานีตรวจสอบหลายแห่งในภูมิภาคซินเจียงทางตะวันตกอันห่างไกล และในมณฑลเฮย์หลงเจียงทางตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อตอบสนองภารกิจดาวอังคาร

ตั้งแต่ทศวรรษ 60 เป็นต้นมา ทั้งสหรัฐ รัสเซีย ยุโรป ญี่ปุ่น และอินเดีย ต่างทำภารกิจดาวอังคารหลายสิบาภารกิจ แต่ส่วนใหญ่ล้มเหลว ส่วนเทียนเหวิน1 ไม่ใช่ความพยายามไปดาวอังคารครั้งแรก

เมื่อปี 2554 จีนเคยร่วมมือกับรัสเซีย แต่ล้มเหลวตั้งแต่ตอนปล่อยยิงจึงยุติโครงการก่อนกำหนด มาคราวนี้ปักกิ่งพยายามด้วยตนเองเพียงลำพัง

“ถ้าเทียนเหวินลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารอย่างปลอดภัย และส่งภาพแรกกลับมาโลกได้ ภารกิจก็จะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่” เฉินสรุป




July 24, 2020 at 10:28AM
https://ift.tt/2OP8VnF

'จีน-สหรัฐ' แข่งเดือด เร่งสำรวจดาวอังคาร - กรุงเทพธุรกิจ

https://ift.tt/2YfjZyP

No comments:

Post a Comment