Pages

Saturday, August 15, 2020

SACICT เดินแผนยกระดับงานศิลปาชีพสู่สากล วาง 2 แนวทางสร้างความยั่งยืนให้งานศิลปหัตถกรรมไทย - ไทยรัฐ

sallstargossip.blogspot.com

หนึ่งในพระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง คือการจัดหาอาชีพให้กับราษฎรเพื่อเพิ่มพูนรายได้ให้เพียงพอ ด้วยงานด้านศิลปาชีพ และงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICT จึงได้น้อมนำพระราชปณิธานมาเป็นหมุดหมายหลักในการดำเนินงาน เดินหน้าสืบสานภารกิจ ดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์และภูมิปัญญาของหัตถศิลป์ไทย ผลักดันให้สามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนและชุมชนท้องถิ่น สืบสานให้คนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจและภูมิใจในคุณค่าของความเป็นไทย

แต่ปัจจุบัน ชาวบ้านที่ผลิตงานหัตถกรรมหลายชีวิตต้องประสบปัญหาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 สูญเสียงานและรายได้ส่งผลต่อการดำรงชีวิต โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ห่างไกลซึ่งเหมือนเคราะห์ซ้ำจากภาวะภัยแล้ง ที่ทำให้ไม่สามารถทำการเกษตรได้ เป็นภารกิจสำคัญที่ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICT ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือ

นายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ

พรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICT กล่าวยอมรับว่า แม้วันนี้จะมีความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านที่จะทำให้งานหัตถกรรมเกิดเป็นอาชีพที่แท้จริง แต่ด้านการตลาดยังเป็นปัญหาสำคัญ วิธีการที่จะนำออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ ยังไม่ไหลลื่น ทำให้รายได้ของชาวบ้านที่มีฝีมือ สร้างงานที่ดีได้ มาได้เพียงระดับเดียว ความนิยมในงานหัตถกรรมพื้นบ้าน โดยเฉพาะผ้าไทย อยู่ในวงแคบ ไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ และยังมีโอกาสในการเปิดตลาดสู่ต่างประเทศได้น้อย SACICT จึงได้วางแนวทางในการทำการตลาด ที่จะช่วยขยายตลาดผ้าไทยให้เป็นที่นิยมทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ และตลาดต่างประเทศ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสมาชิกของศูนย์ศิลปาชีพ ประกอบด้วย

1) การร่วมกันสร้างค่านิยมให้คนไทย ใช้ของไทย ตามสโลแกนของ SACICT คือ “คุณค่าของความเป็นไทย” ด้วยการดึงคนรุ่นใหม่มาเชื่อมต่อกับงานหัตถกรรม โดยร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา และสถานีโทรทัศน์ จัดการแข่งขันพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าไทย โดยให้นักศึกษาจากหลายๆ สถาบัน ก่อตั้งหรือจัดทีมที่มีดีไซเนอร์ร่วมเข้าประกวดในการแข่งขัน พร้อมจัดสรรงบประมาณลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชน นำไอเดียของคนรุ่นใหม่มาสร้างสรรเป็นผลิตภัณฑ์จากผ้าไทยที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ และมีการถ่ายทอดผ่านรายการโทรทัศน์ เพื่อให้เข้าถึงผู้ชมทั่วประเทศทุกสัปดาห์ ซึ่งผลงานเหล่านี้จะนำไปประกวดภายในงานของ SACICT อันจะเป็นการเชื่อมเด็กรุ่นใหม่เข้ากับงานหัตถกรรมโดยไม่รู้ตัว

2) การผลักดันให้เกิดการวิจัยและพัฒนา (R&D) ผ้าไทย และหัตถกรรมอื่นๆ โดยร่วมมือกับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัย สร้างให้ผ้าไทยเป็น Smart Textile มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น ผ้าไหม Nano ที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัส หรือมีสารเคลือบผ้าไหมที่ทำให้ซักรีดได้ง่าย ที่ทำให้คุณสมบัติของผ้าไหม นอกจากด้านความสวย มีเอกลักษณ์แล้ว ยังเพิ่มคุณค่าด้านคุณสมบัติพิเศษ รวมถึงการออกแบบที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ สามารถเจาะตลาดต่างประเทศได้ชัดเจนขึ้น

“ผมกำลังจะเปลี่ยนแนวทางพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งหมดในปีงบประมาณที่จะถึงนี้ เป็นการสร้างตลาดให้กับงานหัตถกรรมไทยทั้งระบบ ซึ่งหากคนไทย 5-10% ของทั้งประเทศหันมาสนใจ และใช้ผลิตภัณฑ์จะผ้าไทย ก็จะทำให้ตลาดเติบโตมหาศาล ถ้าตลาดในประเทศได้รับความนิยม ตลาดต่างประเทศก็จะตามมา เราควรยุติการซื้อเพราะความสงสาร แล้วเปลี่ยนให้การซื้อนั้น เป็นเพราะสินค้าน่าซื้อจริงๆ” พรพลกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 SACICT ได้เข้าไปส่งเสริมให้ครูช่างศิลปหัตถกรรมในท้องถิ่นต่างๆ เป็นผู้นำชุมชนในการให้ชาวบ้านได้น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง ในงานด้านศิลปาชีพและงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน มาเป็นแสงสว่างนำทางให้ชีวิต ผ่านโครงการ “หน้ากากจากหัวใจชุมชน” ด้วยการลงพื้นที่ไปส่งเสริมการผลิตหน้ากากผ้าแก่ชาวบ้าน และประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งได้ใช้ผ้าฝ้ายจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาเป็นวัตถุดิบออกแบบตัดเย็บร่วมกับผ้าพื้นถิ่นของชุมชน โดยใช้แรงงานฝีมือชาวบ้านในชุมชนหัตถกรรมและประชาชนโดยรอบ

ปัจจุบัน SACICT ได้นำร่องโครงการ “หน้ากากจากหัวใจชุมชน” ไปแล้ว 5 ชุมชน ซึ่งแต่ละชุมชนมีครูช่างศิลปหัตถกรรมของ SACICT เป็นศูนย์กลาง ได้แก่ ชุมชนหัตถกรรมหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ โดย ครูอนัญญา เค้าโนนกอก ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2554, ชุมชนบ้านหัวฝาย จ.ขอนแก่น โดย ครูสุภาณี ภูแล่นกี่ ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2556, ชุมชนบ้านดอนยายเหม จ.สุพรรณบุรี โดย ครูภารดี วงศ์ศรีจันทร์ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2555, ดาหลาบาติก จ.กระบี่ โดย ครูธนินทร์ธร รักษาวงศ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2556 และชุมชนศรียะลาบาติก จ.ยะลา โดย ครูปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2560 ซึ่งได้มีการขยายการผลิตไปยังชาวบ้านในชุมชนออกแบบและตัดเย็บหน้ากากผ้าทางเลือก สร้างรายได้ในช่วงโควิด-19

โดย ชุมชนหัตถกรรมหนองบัวแดงมีการรวมกลุ่มกันของชาวบ้าน 11 หมู่บ้าน ใน 2 อำเภอ คือ อ.หนองบัวแดง และ อ.เกษตรสมบูรณ์ โดยครูอนัญญา เค้าโนนกอก ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2554 เป็นผู้นำชาวบ้านกลุ่มนี้ ซึ่งประกอบไปด้วยแรงงานหนุ่มสาวซึ่งเดินทางกลับภูมิลำเนาจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลุ่มผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน รวมทั้งผู้พิการ โดยขณะนี้มีสมาชิกในชุมชนเข้าร่วมโครงการจำนวนกว่า 500 ราย หรือกว่า 200 หลังคาเรือน ดำเนินการผลิตในลักษณะต่างคนต่างทำที่บ้านของตนเองโดยไม่มีการรวมกลุ่ม

ความพิเศษของหน้ากากผ้านี้ คือ การนำผ้าของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ซึ่งสวยงามโดดเด่นด้วยสีสันอันเป็นเอกลักษณ์มาใช้เป็นวัตถุดิบหลักของหน้ากาก ร่วมด้วยการออกแบบตัดเย็บกับผ้าฝ้ายออร์แกนิกจากฝ้ายที่ปลูกแบบไร้สารเคมีของชุมชนเอง ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะจากหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง ถือเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย นำมาผ่านกระบวนการเข็นฝ้ายด้วยมือและย้อมสีธรรมชาติจาก ประดู่ ครั่ง คำแสด คราม ขมิ้น และมะเกลือ นำมาซักทำความสะอาดอย่างดีเพื่อตัดเย็บเป็นหน้ากาก 2 ชั้น มีช่องสำหรับใส่ Filter เพิ่มได้ เนื่องจากเป็นเส้นใยจากธรรมชาติที่มีขนาดเล็ก จึงสวมใส่สบาย เหมาะกับทุกเพศทุกวัย และที่สำคัญเป็นหน้ากากผ้าที่ทำด้วยหัวใจของชาวบ้านทุกคน จึงของเชิญชวนผู้สนใจทุกท่าเลือกซื้อหน้าการที่ชอบได้ที่ แอปพลิเคชัน SACICT Shop ทั้งระบบ ios และ Android

นอกจากนี้ SACICT มีแผนการส่งเสริมให้ผู้สร้างสรรค์งานศิลปาชีพและหัตถกรรมไทย ได้นำแนวคิดในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาประยุกต์ใช้ในงานของตน ทั้งด้านการออกแบบ กระบวนการผลิต และบรรจุภัณฑ์ เช่น การย้อมสีธรรมชาติ การใช้เส้นใยธรรมชาติ การใช้วัตถุดิบจากพืช การละเว้นการใช้สารฟอกขาว สารเคมีอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนในน้ำ ดิน และอากาศ เพื่อลดปริมาณการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และกระบวนการผลิตที่ทำให้เกิดของเสีย และการปนเปื้อน ซึ่งทำให้สามารถลดต้นทุน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเผาผลาญพลังงาน รวมถึงช่วยลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมในภาพรวม จึงได้มีการนำเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องไปเยี่ยมชมงานเพื่อศึกษาแนวทางดังกล่าว โดยล่าสุดได้ พาสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชม กระบวนการผลิตผ้าไหมทอมือ และนำชมผลิตภัณฑ์ของศูนย์ศิลปาชีพทุ่งกะมัง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ

“SACICT เชื่อมั่นว่า งานศิลปาชีพและหัตถกรรมไทยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนี้ จะสร้างจุดขายให้แก่ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ของงานศิลปหัตถกรรมไทย ให้สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีความใส่ใจและพร้อมสนับสนุนผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่ดีต่อโลก ซึ่งก็สอดคล้องกับเทรนด์และค่านิยมของสังคมและประชาคมโลกที่ให้คุณค่าในด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมและการคืนประโยชน์กลับสู่สังคมอย่างยั่งยืน” ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศกล่าวทิ้งท้าย

อ่านเพิ่มเติม...




August 14, 2020 at 06:30PM
https://ift.tt/2Yk3Glp

SACICT เดินแผนยกระดับงานศิลปาชีพสู่สากล วาง 2 แนวทางสร้างความยั่งยืนให้งานศิลปหัตถกรรมไทย - ไทยรัฐ

https://ift.tt/2AaMG8j

No comments:

Post a Comment