คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน เมื่อวานเป็นวันครบรอบ 133 ปีสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่นพอดี นึกได้ว่าฉันเคยอ่านเจอจากหนังสือบวกกับมีคนเล่าให้ฟังเกี่ยวกับสิ่งละอันพันละน้อยในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีที่มาที่ไปจากสายสัมพันธ์อันยาวนานของสองประเทศนี้ บางอย่างก็นึกไม่ถึงว่าเกี่ยวข้องกันด้วย มาดูกันดีกว่าค่ะว่ามีอะไรบ้าง
1.สามล้อตุ๊กตุ๊ก
มีใครนึกว่ารถสามล้อ “ตุ๊กตุ๊ก” ที่คนกรุงเทพฯ เห็นกันมานมนานมีต้นกำเนิดในเมืองไทยบ้างไหมคะ ฉันเคยหลงคิดแบบนั้นมาตลอดเลย แท้จริงแล้วรถ “ตุ๊กตุ๊ก” ที่เดี๋ยวนี้เรานิยมใช้กันเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของไทยและกรุงเทพฯ นั้น แท้จริงแล้วมีต้นกำเนิดมาจากรถสามล้อเครื่องรุ่น “มิเซท” ที่ผลิตโดยบริษัทไดฮัทสุของญี่ปุ่น
ถ้าใครเคยดูแอนิเมชันเก่า ๆ ของญี่ปุ่น อาจเคยสังเกตเห็น “รถตุ๊กตุ๊ก” กันมาบ้าง เช่น ใน “โทนาหริ โนะ โทโทโร่” แอนิเมชันยอดนิยมของผู้กำกับมิยาซากิ ฮายาโอะ ก็มีฉากที่คุณพ่อของเด็ก ๆ ขับรถสามล้อเครื่องขนของย้ายบ้าน
รถสามล้อเครื่องมีการผลิตในญี่ปุ่นมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลก ก่อนจะค่อย ๆ เสื่อมความนิยมลงให้แก่รถสี่ล้อ แต่บริษัทไดฮัทสุก็ยังหาทางตีตลาดรถสามล้อเครื่องขึ้นมาใหม่จนเป็นที่นิยมได้ช่วงหนึ่ง นั่นก็คือรถสามล้อรุ่น “มิเซท” ซึ่งผลิตระหว่างปี พ.ศ. 2500-2515 ถือเป็นรถมียี่ห้อที่ราคาถูก และตอบสนองความต้องการของบริษัทห้างร้านขนาดเล็กของญี่ปุ่นได้ดี
รถมิเซทจำนวนหนึ่งถูกส่งออกไปขายยังต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไทยเองก็นำรถชนิดนี้เข้ามาเป็นจำนวนมากเพื่อใช้ในการขนส่งสินค้า และยิ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายขึ้นมากหลังจากมีการห้ามใช้รถสามล้อถีบในกรุงเทพฯ
ต่อมาความนิยมรถมิเซทในญี่ปุ่นเสื่อมลง บริษัทไดฮัทสุจึงได้เลิกผลิตรถรุ่นนี้ไปในปี พ.ศ. 2515 ทำให้ประเทศไทยพลอยหาอะไหล่และชิ้นส่วนในการซ่อมแซมยากไปด้วย ในที่สุดจึงมีการดัดแปลงตัวถังรถให้เป็นรูปแบบไทย ๆ สะดวกแก่การหาอะไหล่ซ่อมและมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นมา ซึ่งหลงเหลือมาจนบัดนี้และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
ผ่านมาหลายปีบริษัทไดฮัทสุคงคิดถึงรถรุ่นนี้ เลยกลับมาผลิตรถมิเซทรุ่น 2 ซึ่งเป็นรถสี่ล้อน้ำหนักเบาที่มีต้นแบบมาจากรถมิเซทรุ่นแรก และผลิตเพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้นคือระหว่างปี พ.ศ. 2539-2543 ปัจจุบันยังไม่มีการผลิตรถประเภทนี้ขึ้นมาอีก แต่รถมิเซทแบบสามล้อก็ยังเป็นรถคลาสสิคที่ชวนให้คนญี่ปุ่นนึกถึงวันวาน
2.ซูชิกับปลาส้ม
ดู ๆ ไปแล้วของสองสิ่งนี้ไม่น่ามาเกี่ยวกันได้ ใครเลยจะนึกว่า “ซูชิ” อาหารญี่ปุ่นที่แทบไม่มีใครไม่รู้จักมีต้นกำเนิดมาจากการหมักปลาด้วยข้าว ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับอาหารของจีนตอนใต้และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก บ้านเราเรียกกันว่า “ปลาส้ม” ญี่ปุ่นเรียกว่า “นาเรซูชิ” (熟れずし)
ว่ากันว่าวัฒนธรรมการกินปลาส้มของญี่ปุ่นมีมานานกว่าพันปีแล้ว ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อใด แต่คาดว่าเข้ามาพร้อมวัฒนธรรมการทำนาปลูกข้าว เป็นการถนอมอาหารให้กินได้นานในยุคที่ไม่มีตู้เย็นอย่างสมัยนี้ ปลาส้มของญี่ปุ่นทำด้วยการหมักกับเกลือและข้าว แล้วเอาข้าวที่เหลือจากการหมักปลาทิ้งไป ต่อมาในสมัยมุโรมาจิ (ประมาณปลายสมัยสุโขทัยถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง) เริ่มมีการรับประทานข้าวหมักพร้อมปลา และพบว่าข้าวมีรสอร่อยจากปลาไปด้วย จึงกลายเป็นที่มาของซูชิในยุคนี้
ทว่ากว่าจะได้ข้าวที่เปรี้ยวจากการหมักปลาก็ใช้เวลา ในสมัยเอโดะที่มีการกลั่นน้ำส้มสายชูได้แล้ว จึงหันมาใช้น้ำส้มสายชูแทนเพื่อให้ข้าวมีรสเปรี้ยวเร็ว แต่รสชาติก็จะต่างจากข้าวที่เปรี้ยวจากการหมักปลา
ปลาส้มญี่ปุ่นหรือ “นาเรซูชิ” มีหลายชนิดแตกต่างกันไปตามระยะเวลาในการหมัก และตามชนิดของปลาที่ใช้ สามารถหมักได้ตั้งแต่ระยะเวลาไม่กี่วันไปจนถึงหลายปี ซึ่งจะมีชื่อเรียกปลีกย่อยตามระยะเวลาหมักอีกด้วย โดยมากนิยมหมักปลากันประมาณหนึ่งปี ยิ่งหมักนานราคายิ่งสูง และแน่นอนว่ากลิ่นยิ่งฉุน แต่คนที่กินเป็นก็จะว่ายิ่งฉุนยิ่งดี บางสูตรหมักราว 30 ปี ได้ออกมาเป็นลักษณะคล้ายน้ำปลาร้าบ้านเรา แต่น้ำเป็นสีขาว
ปลาที่ใช้หมักมีหลายชนิด เช่น ปลาซาบะ ปลาซัมมะ ปลาอะยุ ปลาบุริ ปลาแซลมอน ชื่อเรียกเฉพาะก็อาจจะแตกต่างกันไป ที่รู้จักกันดีได้แก่ “ฟุนะชูชิ” (鮒ずし) ซึ่งทำมาจากปลา “นิโงโรบุนะ” เป็นของขึ้นชื่อย่านทะเลสาบบิวะ จังหวัดชิงะ
วิธีการรับประทาน สามารถรับประทานได้ทั้งดิบ ๆ โดยแล่เป็นคำให้รับประทานง่าย หรืออาจจิ้มโชยุก่อนรับประทาน หรือรับประทานเป็น “โอะจะสึเกะ” (お茶漬け) คือวางบนข้าวสวยแล้วราดชาร้อนลงไป หรือจะนำไปทำให้สุกก่อนด้วยการย่างหรือชุบแป้งทอดก็ได้เช่นกัน
ในเมืองไทยจะได้ยินข่าวเตือนภัยจากการรับประทานปลาส้มและปลาร้าดิบอยู่เรื่อย ๆ โดยเฉพาะพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีที่เกิดจากพยาธิชนิดนี้ แต่ยังไม่เคยได้ยินว่าที่ญี่ปุ่นมีปัญหาลักษณะเดียวกันทั้งที่นิยมรับประทานดิบ คาดเดาว่าอาจจะมีความต่างในเรื่องของแหล่ง ชนิด และคุณภาพของปลา รวมทั้งกรรมวิธีในการผลิต หรือหมักระยะเวลานานมากพอก็เป็นได้
3.เหล้าอาวาโมริกับข้าวไทย
จังหวัดโอกินาวามีของขึ้นชื่ออยู่อย่างหนึ่งคือ “เหล้าอาวาโมริ” ซึ่งเป็นเหล้าพื้นเมือง ว่ากันว่าเป็นเหล้าที่พัฒนาขึ้นมาจากเหล้าโรงของไทย โดยในยุคสมัยที่โอกินาวายังเป็นอาณาจักรริวกิวนั้น ได้มีการติดต่อค้าขายกับประเทศต่าง ๆ รวมไปถึงประเทศไทยซึ่งยังเรียกว่า “สยาม” ในเวลานั้นด้วย
อาณาจักรริวกิวเรียนรู้และพัฒนาการผลิตเหล้าจากเหล้าโรงบรรจุไหดินของสยาม จนต่อมาส่งออกไปเป็นเครื่องบรรณาการต่อประเทศที่ทำการค้าขายด้วย ในสมัยนั้นเหล้าของอาณาจักรริวกิวใช้ข้าวฟ่างและข้าวเป็นวัตถุดิบในการผลิต และต่อมาในสมัยเมจิ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ห้า) ก็มีการนำข้าวจากต่างประเทศมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตด้วย ทั้งจากจีน เกาหลี เวียดนาม พม่า และไต้หวัน พอในปลายสมัยไทโช (ตรงกับปลายสมัยรัชกาลที่หก) เป็นต้นมา ก็หันมาใช้ข้าวไทยเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตจนถึงปัจจุบัน
เหล้าอาวาโมริใช้ข้าวไทย (ข้าวพันธุ์อินดิกา) เป็นหลักก็เนื่องมาจาก 1. ข้าวร่วนดีไม่เหนียว นำมาทำข้าวโคจิ (กล้าเชื้อในการหมัก)ได้ง่าย 2. ควบคุมอุณหภูมิง่ายในขั้นตอนหมักแอลกอฮอล์ด้วยการเติมน้ำและยีสต์ 3. ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ได้สูงกว่าการใช้ข้าวชนิดอื่น
ได้ยินว่าคนญี่ปุ่นบางคนพอเห็นป้ายเขียนบนขวดเหล้าอาวาโมริว่าทำมาจากข้าวไทยแล้วก็ทำหน้าเบ้ นึกว่าผู้ผลิตต้องการลดต้นทุนเลยใช้ของถูกมาทำเหล้า จริง ๆ แล้วเป็นเอกลักษณ์ของเหล้าอาวาโมริซึ่งเป็นเหล้าชนิดเดียวของญี่ปุ่นที่ไม่ได้ใช้ข้าวพันธุ์จาโปนิกา (ข้าวเมล็ดสั้นกลม)
4.ปลานิล
เห็นปลานิลทีไรต้องนึกถึงในหลวงพระองค์ก่อนกับจักรพรรดิญี่ปุ่นองค์ก่อนทุกที มีใครจำได้ว่าเคยอ่านเรื่องนี้จากในหนังสือเรียนบ้างไหมคะ ปลาน้ำจืดราคาถูกชนิดนี้แพร่หลายในเมืองไทยได้ก็เพราะในหลวงรัชกาลที่เก้า ท่านทรงพระเมตตาหาทางเพาะพันธุ์ปลาที่เลี้ยงง่ายขยายพันธุ์เร็ว ซึ่งสามารถอาศัยในแหล่งน้ำตามธรรมชาติของไทยได้ ทั้งนี้ก็เพื่อแก้ปัญหาคนไทยขาดโปรตีน จะได้บริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์ในราคาย่อมเยา
สมเด็จจักรพรรดิอากิฮิโตะซึ่งยังเป็นมกุฏราชกุมารในเวลานั้นทรงทราบความ และด้วยความที่พระองค์ก็ทรงเชี่ยวชาญเรื่องปลา จึงทรงเลือกลูกพันธุ์ปลานิลแท้ 50 ตัวส่งมาทูลเกล้า ฯ ถวาย ในหลวงจึงทรงทดลองเลี้ยงและศึกษาดู เมื่อทรงเห็นว่าได้ผลดีก็พระราชทานให้กรมประมงนำไปทดลองเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ต่อไป
นี่จึงเป็นที่มาของปลานิลราคาถูกที่เราได้กินและเห็นกันทั่วไปในเมืองไทย เป็นหลักฐานความสัมพันธ์และมิตรภาพอันดีของไทย-ญี่ปุ่นที่น่าประทับใจ
ที่จริงก็ยังมีเรื่องราวความสัมพันธ์ของไทย-ญี่ปุ่นที่น่าสนใจอื่น ๆ อยู่อีก แต่เนื้อที่หมดลงเสียก่อน จึงขอจบไว้แต่เพียงเท่านี้ หากมีโอกาสก็จะนำมาเล่าสู่กันฟังเพิ่มเติมต่อไปนะคะ ขอบคุณที่ติดตามอ่านกัน สวัสดีค่ะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น”ที่MGR Onlineทุกวันอาทิตย์.
September 27, 2020 at 08:34AM
https://ift.tt/336ueZV
“หลักฐาน” การดองญาติไทย-ญี่ปุ่น - ผู้จัดการออนไลน์
https://ift.tt/2AaMG8j
No comments:
Post a Comment