ขณะเดียวกัน ฉลามหนุ่มลูกครึ่งสิงคโปร์-อังกฤษ กลับพยามลดความกดดันให้ตัวเอง โดยยืนยันว่าไม่ได้โฟกัสที่การคว้าเหรียญทองเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือการโฟกัสอยู่ตัวเองเท่านั้น
“ผมยังคงแสวงหาความพยายาม ที่จะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นแบบไม่มีวันสิ้นสุดอยู่เสมอ ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ ผมก็จะพยายามทำมันให้ดีที่สุด และผมยังคงเป็นที่โหยหาชัยชนะอยู่ตลอดเวลา”
“ผมต้องการทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ นักกีฬาทุกคนในโอลิมปิก ต่างต้องการชัยชนะเป็นส่วนใหญ่ แต่ผมต้องการที่จะซื่อสัตย์กับตัวเอง และทำผลงานให้ดีที่สุดในวันแข่งขัน” สคูลลิ่ง ให้สัมภาษณ์ผ่านเว็บไซต์ tokyo2020.org
3. พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ (ไทย)
ประเภทกีฬา : เทควันโด (รุ่น 49 กิโลกรัมหญิง)
สาวน้อยจากสุราษฎร์ธานี ที่ในจุดเริ่มต้นของการเล่นเทควันโด กลายเป็นเพื่อนสนิทกับความพ่ายแพ้ และสะกดคำว่า “ชนะ” แทบไม่เป็น แต่ในเมื่อโชคชะตากำหนดแล้วว่า จะกลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในเส้นทางนี้ ทำให้ในวันที่ พาณิภัค เริ่มตั้งหลักได้ ความสำเร็จก็หลั่งไหลเข้ามาแทบไม่หยุด
แต่ในวันที่ได้สิทธิ์ลงแข่งขันโอลิมปิก 2016 “ริโอเกมส์” ดูเหมือนว่าความหวังของคนทั้งประเทศ จะหนักเกินไปที่เด็กวัย 19 ปีจะแบกรับไหว ซึ่งการคว้าเหรียญทองแดงมาได้ ก็ถือเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมากแล้ว สำหรับลูกสาวคนเล็กของครอบครัว “วงศ์พัฒนกิจ”
และหลังการเคี่ยวกรำอย่างหนักหน่วงจากโค้ชเช ยอง ซอก ทำให้วันนี้ “น้องเทนนิส” ก้าวขึ้นมาเบอร์หนึ่งของโลก ในรุ่น 49 กิโลกรัมหญิง พร้อมกับดีกรีแชมป์พวงท้ายยาวเป็นห่างว่าว ดังนั้นใน “โตเกียวเกมส์” จึงเป็นโอกาสอันดีที่ พาณิภัค จะเติมเต็มความสำเร็จของตัวเอง และความหวังของแฟนกีฬาชาวไทย ในการคว้าเหรียญทองเทควันโด เหรียญแรกในประวัติศาสตร์ของไทย บนเวทีโอลิมปิก
4. อาซิซุลฮาสนี อาวัง (มาเลเซีย)
ประเภทกีฬา : จักรยาน (คีริน)
อดีตเจ้าของแชมป์โลก 2017 ในประเภทคีริน คือหนึ่งในความหวังที่สำคัญของทัพนักกีฬาจากแดนเสือเหลือง และในวัย 33 ปี โอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น น่าจะเป็นรถไฟขบวนสุดท้ายแล้ว สำหรับนักปั่นจอมทะเล้นจากตรังกานู ในการสร้างชื่อเสียงระดับประเทศ
นักจักรยานคุณพ่อลูกสองรายนี้ มุ่งมั่นเป็นอย่างมากกับโอลิมปิก 2020 โดยเจ้าตัวฝึกซ้อมเป็นส่วนใหญ่อยู่ที่เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย สลับกับการเดินสายแข่งขันไปทั่วโลก ซึ่งหากมองจากคู่แข่งในขณะนี้ ต้องยอมรับว่าโอกาสซิวเหรียญทองค่อนข้างหืดขึ้นคอ เพราะมีคู่ปรับสำคัญอย่าง ฮาร์รี เลฟเรย์เซ่น แชมป์โลกคนล่าสุดชาวดัตช์ และ ยูตะ วากิโมโตะ จากญี่ปุ่นยืนขวางอยู่
แต่ด้วยระยะเวลาที่เหลืออีกราว 4 เดือน ก็น่าจะเพียงพอสำหรับการรีดฟอร์มเก่งของ “อซิซุล” ให้กลับมาพีคได้อีกครั้ง และไม่แน่ว่าหากโชคชะตาเป็นใจ เหรียญทองจักรยานประเภทคีรินในโอลิมปิก อาจจะเป็นของเขาก็ได้ ใครจะไปรู้
5. เมียร์อาเชม ฮอสไซนี (อิหร่าน)
ประเภทกีฬา : เทควันโด (รุ่น 68 กิโลกรัมชาย)
จอมเตะก้านยาว เจ้าของความสูง 190 ซม.จากอิหร่าน คือหนึ่งในความหวังระดับแนวหน้า ของทัพนักกีฬาจากแดนเปอร์เซีย ที่อาจจะคว้าเหรียญทองในมหกรรมโอลิมปิก “โตเกียวเกมส์” กลางปีนี้
ฮอสไซนี แจ้งเกิดในระดับอินเตอร์เมื่อปี 2016 หลังคว้าเหรียญทองรุ่น 63 กิโลกรัม ในศึกชิงแชมป์เอเชียที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย หลังจากนั้นในปี 2017 ก็ก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์กีฬามหาวิทยาลัยโลก รวมถึงตำแหน่งรองแชมป์โลก หลังแพ้ให้กับ จ้าว ฉ่วย จากจีนไปอย่างน่าเสียดาย
แต่หลังจากปี 2019 จอมเตะหนุ่มวัย 22 ปี ก็ขยับขึ้นมาอยู่ในรุ่น 68 กิโลกรัม และถึงแม้จะมีคู่ปรับตัวฉกาจอย่าง อี แท ฮุน (เกาหลีใต้), แบรดลี ซินเดน (อังกฤษ), ฆาเบียร์ เปเรซ (สเปน) รวมถึงจนถึง อเล็กซี เดนิสเซนโก (รัสเซีย) ยืนขวางอยู่ แต่ถ้าเทพีแห่งโชคเข้าข้างในวันจับติ๋วแบ่งสาย บางที ฮอสไซนี อาจได้ยืนแป้นในโอลิมปิกครั้งนี้ก็ได้
6. โอ ซัง อ็อค (เกาหลีใต้)
ประเภทกีฬา : ฟันดาบ (เซเบอร์)
แทบไม่น่าเชื่อว่า จากเด็กที่ถูกพ่อแม่ห้ามไม่ให้เล่นกีฬาฟันดาบ แต่ด้วยใจรักและการมีพี่ชายเป็นไอดอล รวมถึงโค้ชผู้ค้นพบพรสวรรค์อย่าง ปาร์ค จอง ฮาน ช่วยขัดเกลา ทำให้เจ้าหนูซัง อ็อค ในวันนั้น กลายเป็นแชมป์โลกในวันนี้ได้
ตำแหน่งแชมป์โลกในประเภทดาบเซเบอร์ บุคคลชาย 2 สมัย และประเภททีมอีก 3 สมัย น่าจะตอบแทนได้ว่าฝีมือของ โอ ซัง อ็อค เจ๋งแค่ไหน อีกทั้งการยึดตำแหน่งมือ 1 ของโลกคนปัจจุบัน จากการจัดอันดับของสหพันธ์ฟันดาบนานาชาติ (เอฟไออี) น่าจะช่วยทำให้เพิ่มความมั่นใจให้เจ้าตัวได้มาก ก่อนถึงศึกโอลิมปิกในช่วงกลางปีนี้
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เส้นทางสู่เหรียญทอง “โตเกียวเกมส์” อาจไม่ใช่งานง่ายเท่าไหร่ เพราะยังมีคู่ปรับตัวกลั่นขวางทางอยู่หลายราย ไล่ตั้งแต่ อีไล เดิร์ชวิตซ์ (สหรัฐอเมริกา), ลูกา คูลาโตลี (อิตาลี), อารอน ซีลากี (ฮังการี), มักซ์ ฮาตุง (เยอรมนี), รวมไปจนถึงรุ่นพี่ร่วมชาติอย่าง กู บอน กิล (เกาหลีใต้)
7. อากิระ โซเนะ (ญี่ปุ่น)
ประเภทกีฬา : ยูโด (รุ่นน้ำหนักมากกว่า 78 กิโลกรัมหญิง)
สำหรับ อากิระ เริ่มต้นเล่นยูโดครั้งแรกเมื่ออายุ 7 ขวบ โดยมีแรงบันดาลใจมาจากพี่ชายทั้ง 3 คน จากนั้นในปี 2015 ชื่อของสาวน้อยจากเมืองฟูกูโอกะ ก็กลายเป็นที่รู้จักในระดับอินเตอร์ เมื่อเธอกวาดแชมป์โลกได้ทุกระดับ ไล่ตั้งแต่ระดับยุวชน (ซาราเยโว, 2015) และระดับเยาวชน (ซาเกร็บ, 2017)
จากนั้นจอมทุ่มผู้ไม่เคยแพ้ ก็เดินหน้ากวาดแชป์ได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งแชมป์เอเชียนเกมส์ 2018 ต่อด้วยแชมป์โลกบนแผ่นดินบ้านเกิดในปี 2019 และที่เจ๋งกว่านั้นคือ อากิระ ซิวเหรียญทองได้ทั้งประเภทบุคคลและทีม
แน่นอนว่าคู่แข่งสำคัญในโอลิมปิกครั้งนี้ คงหนีไม่พ้นคู่ปรับหน้าเดิมๆ ที่ผลัดกันแพ้-ชนะมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น ไอดาลิส ออร์ติซ (คิวบา), มาเรีย อัลเธแมน (บราซิล), เคย์รา ซายิต (ตุรกี) รวมถึง ซาราห์ อาซาฮินะ เพื่อนร่วมชาติชาวญี่ปุ่น.
เรื่อง : สุภาพบุรุษพุงตึง
กราฟฟิก : Varanya Phae-araya
ภาพบางส่วนจาก : IG azizulhasniawang, mirhashem.hoseini_official
March 19, 2021 at 06:00AM
https://ift.tt/3cK87MF
7 นักกีฬาดาวดังแห่งเอเชีย ที่พร้อมเขย่าสังเวียน "โตเกียวเกมส์ 2020" - ไทยรัฐ
https://ift.tt/2YfjZyP
No comments:
Post a Comment