Pages

Sunday, July 26, 2020

การเมืองแฝงวิทยาศาสตร์ นานาชาติมุ่งสู่ดาวอังคาร - เดลีนีวส์

sallstargossip.blogspot.com

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) สร้างประวัติศาสตร์เป็นประเทศแรกในโลกอาหรับ ซึ่งสามารถพัฒนาและส่งยานสำรวจในชื่อ “อัล-อามาล” ที่แปลว่า “ความหวัง” ออกเดินทางจากโลกโดยใช้บริการจรวดนำส่งของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา แม้ยังต้องลุ้นกันในอีก 7 เดือนข้างหน้า ว่ายานจะสามารถเข้าสู่วงโคจรรอบดาวอังคารได้ตามกำหนดหรือไม่ แต่อย่างน้อยเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นการนำชื่อของยูเออีเข้าสู่ทำเนียบประเทศที่เคยมีภารกิจส่งยานสำรวจเดินทางไปยังดาวอังคาร

ขณะเดียวกัน การเดินทางสู่ดาวอังคารของยานสำรวจจากยูเออี “มีความสำคัญอย่างยิ่ง” สำหรับวงการอวกาศโลก ไม่ต่างจากช่วงเวลาที่จรวดนำส่งทะยานขึ้นจากฐานปล่อย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ข้อมูลที่ทุกฝ่ายทราบเกี่ยวกับยูเออีคือเป็นประเทศที่ไม่มีประสบการณ์ในการผลิตและส่งยานสำรวจอวกาศ ศักยภาพในการพัฒนาศาสตร์ทุกแขนงที่เกี่ยวข้องเต็มไปด้วยเงื่อนไข โครงการภารกิจสู่ดาวอังคารของยูเออีจึงมีทีมงานเป็นประชาชนในพื้นที่ทั้งหมด มีอายุเฉลี่ยต่ำกว่า 35 ปี แม้ได้รับความช่วยเหลือบางส่วนจากสหรัฐ แต่เงินทุนส่วนใหญ่แน่นอนมาจากภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองจากการที่ไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้มาก่อน เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยกับการที่ยูเออีเลือกเปิดตัวภารกิจสู่อวกาศของตัวเอง ด้วยการส่งยานสำรวจเดินทางไปยังดาวอังคาร ในเมื่อเป็นที่ทราบกันดีในวงการ ว่าภารกิจดาวอังคารนั้นเป็นงานด้านอวกาศซึ่งมีโอกาส “ล้มเหลว” มากที่สุด จริงอยู่ที่ตอนนี้นักวิทยา ศาสตร์ยกให้ดาวอังคารเป็น “ทางเลือก” ในการที่มนุษย์จะย้ายไปอยู่อาศัย เพราะมีเบาะแสบ่งชี้การเคยมีแหล่งน้ำปรากฏอยู่บนดาวอังคาร

แต่ในช่วงสงครามเย็นนั้น ภารกิจอวกาศเป็นเรื่องของการสร้างอิทธิพลในทางภูมิศาสตร์การเมือง ระหว่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียต จนเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับสหภาพโซเวียต สหรัฐจึงขึ้นมาครองตำแหน่ง “เจ้าแห่งอวกาศ” แต่เพียงผู้เดียว หากไม่นับความร่วมมือด้านสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) กับรัสเซีย

ในส่วนโครงการสำรวจดาวอังคารของยูเออีนั้น มีเป้าหมายสอดคล้องกับชื่อทุกประการ “ความหวัง” ของยูเออี หากยานสามารถเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารได้สำเร็จ ปี 2564 จะเป็นปีที่ยูเออีเฉลิมฉลองการสถาปนาประเทศครบรอบ 50 ปี ขณะที่การส่งยานสำรวจในช่วงเวลานี้ ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงต่อเศรษฐกิจโลก ยูเออีต้องการแสดงให้ประชาชนและประเทศร่วมภูมิภาคได้เห็น “ทางเลือก” ของการบูรณาการเศรษฐกิจจากการพึ่งพิงรายได้จากการขายน้ำมันเพียงอย่างเดียว

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 อินเดียสร้างประวัติศาสตร์เป็นประเทศแรกในทวีปเอเชีย ที่ประสบความสำเร็จในการส่งยานสำรวจเข้าสู่วงโคจรดาวอังคารได้สำเร็จ โดย “มังคลายาน” ยานสำรวจราคาประหยัดที่อินเดียออกแบบเอง สร้างเอง และส่งเอง แม้มังคลายานไม่ได้มีเป้าหมายลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารตั้งแต่แรก แต่แน่นอนว่าความสำเร็จของอินเดีย เป็นแรงผลักดันให้กับอีกหลายประเทศยักษ์ใหญ่ในเอเชีย ให้พัฒนาโครงการอวกาศของตัวเองให้ทัดเทียมโลกตะวันตก

หนึ่งในนั้นคือจีน ซึ่งมีภารกิจสำรวจดาวอังคารในชื่อ “เทียนเหวิน-1” แปลว่า “ภาษาสวรรค์-1” โดยจีนยังใช้ชื่อนี้เอาฤกษ์เอาชัย ด้วยการที่นับจากนี้ภารกิจสำรวจจักรวาลจะมีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่าเทียนเหวินทั้งหมด เพื่อสะท้อนความมุ่งมั่นของจีนในด้านการยกระดับภารกิจอวกาศ

อนึ่ง จีนมีดาวเทียมสำรวจโลกดวงแรกชื่อว่า “ตงฟังหง-1” หรือ “บูรพาแดง-1” ออกเดินทางสู่อวกาศเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2513 ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2546 จีนสร้างประวัติศาสตร์เป็นประเทศแรกในทวีปเอเชีย และเป็นประเทศที่ 3 ของโลก ต่อจากสหภาพโซเวียตและสหรัฐ ในการส่งมนุษย์เดินทางสู่อวกาศ โดยเป็นการโคจรรอบโลกด้วยยาน “เสินโจว-5”

ทั้งนี้ หากยานเทียนเหวิน-1 สามารถเคลื่อนเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารได้สำเร็จ ก้าวต่อไปของจีนในอวกาศแน่นอนคือการส่งมนุษย์เดินทางสำรวจดาวอังคาร เป้าหมายด้านการพัฒนาอวกาศของจีนเด่นชัดมากในยุครัฐบาลชุดปัจจุบันของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งมีการบรรจุเรื่องนี้เข้าสู่แผนยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศด้วย โดยรัฐบาลปักกิ่งหมายมั่นปั้นมือมีสถานีอวกาศเป็นของตัวเอง โดยไม่ต้องใช้ร่วมกับสหรัฐและรัสเซีย ให้โคจรรอบโลกภายในปี 2565

ในขณะที่จีนเข้าสู่สนามแข่งขันด้านอวกาศช้ากว่าประเทศขนาดใหญ่หลายแห่งมาก แต่ความมุ่งมั่นพัฒนาอย่างรวดเร็วย่อมเป็นที่จับตาของทุกฝ่ายโดยเฉพาะสหรัฐ ยิ่งกับภารกิจสำรวจดาวอังคารซึ่ง ณ เวลานี้ถือเป็นภารกิจด้านอวกาศท้าทายที่สุดสำหรับมนุษยชาติด้วยแล้ว จริงอยู่ที่สหรัฐมีภารกิจสำรวจดาวอังคารมากที่สุด มีทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ

เกือบ 7 ปีหลังยานหุ่นยนต์สำรวจ “คิวริออสซิตี” ลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคาร องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ยานหุ่นยนต์สำรวจ “อินไซต์” เดินทางตามไปลงจอดเมื่อปลายปี 2561 หลังใช้เวลาเดินทางนานประมาณครึ่งปี โดยภารกิจหลักของยานอินไซต์คือปฏิบัติภารกิจสำรวจชั้นหินบนดาวเคราะห์แดง

ยังไม่ทันครบ 2 ปีดี นาซามีโครงการสำรวจดาวอังคารครั้งใหม่ “มาร์ส 2020” ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการ คือ “เพอร์เซอเวอแรนซ์” เป็นชื่อของยานสำรวจหลัก ซึ่งได้รับการออกแบบและมีขนาดใกล้เคียงกับยานคิวริออสซิตี มีกำหนดการออกเดินทางช่วงปลายเดือนก.ค. นี้ และคาดว่าจะเดินทางถึงจุดหมายในเดือน ก.พ. ปีหน้า

อนึ่ง การที่ยานเทียนเหวิน-1 และมาร์ส 2020 มีกำหนดออกเดินทางในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ปัจจัยด้านสภาพอากาศอาจเป็นส่วนสำคัญ แต่ในเบื้องลึก “อาจมีอะไรมากกว่านั้น” สะท้อนว่าตอนนี้ดาวอังคารไม่ได้เป็นเพียง “สมรภูมิ” วัดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ของกลุ่มประเทศมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ยังกลายเป็น “สมรภูมิ” ที่สร้างความท้าทายทางเศรษฐกิจและการเมืองสำหรับมนุษยชาติทั้งโลกเช่นกัน.

------------------------------------------
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป.




July 26, 2020 at 09:00AM
https://ift.tt/3jC76sJ

การเมืองแฝงวิทยาศาสตร์ นานาชาติมุ่งสู่ดาวอังคาร - เดลีนีวส์

https://ift.tt/2YfjZyP

No comments:

Post a Comment