เป็นเวลา 8 เดือนเต็มนับจากจีนแจ้งองค์การอนามัยโลกพบการแพร่ระบาดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โรคโควิด-19 จนถึงวันนี้การระบาดในภาพรวมระดับโลกยังคงรุนแรง บางประเทศคุมอยู่ บางประเทศระบาดระลอก 2 บางประเทศตั้งแต่เริ่มจนบัดนี้ยังคุมไม่ได้ วัคซีนที่คิดว่าเป็นทางออกนั้นน่าจะเริ่มใช้ปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า แต่กว่าจะใช้อย่างทั่วถึงและป้องกันได้ดีอาจต้องรออีกหลายปี ซ้ำร้ายกว่านั้นผลกระทบจากโรคระบาดไม่จบสิ้นทันทีหลังมีวัคซีน ต้องรออีกหลายปี เกิดชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เป็นที่มาของ “ยุคโควิด-19”
3 ระยะยุคโควิด-19 :
ยุคโควิด-19 ในที่นี้แบ่งตามการมียากับวัคซีน ระยะแรกคือช่วงที่ยังไม่มียากับวัคซีนที่ใช้ได้ผลจริง ระยะกลางคือเริ่มใช้อย่างแพร่หลาย ระยะยาวคือมียากับวัคซีนหลายตัวหลายชนิด วิธีรักษาใหม่ๆ
ระยะแรก ยังไม่มียากับวัคซีนที่ใช้ได้ผลจริง
เป็นช่วงที่โลกเพิ่งรู้จักโควิด-19 เกิดภาวะช็อก แนวทางป้องกันรักษาเน้นสกัดกั้นการแพร่เชื้อ เพราะยังไม่มียาหรือวัคซีนที่ใช้ได้ผลจริง เศรษฐกิจสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รัฐบาลประเทศต่างๆ มุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ลดภาวะช็อกจากวิกฤติเศรษฐกิจสังคม เริ่มเกิดชีวิตวิถีใหม่
ช่วงหลังของระยะแรกนี้ความตื่นตระหนกเริ่มหายไป โควิด-19 ไม่ใช่ของใหม่อีกแล้ว การระบาดยังคงอยู่ บางเมืองเปิด บางเมืองปิด เปิดๆ ปิดๆ เริ่มทดลองใช้ยากับวัคซีน วิธีการรักษาแบบต่างๆ
บางรัฐบาลอยู่ได้ บางรัฐบาลต้องล้มไปหรือเปลี่ยนแปลง เห็นการแข่งขันช่วงชิงระหว่างมหาอำนาจ การจับกลุ่มพันธมิตรแม้กระทั่งเรื่องการพัฒนาวัคซีน
ระยะกลาง เริ่มใช้ยากับวัคซีนอย่างแพร่หลาย
ระยะนี้เริ่มต้นเมื่อมีใช้ยาและ/หรือวัคซีนที่ใช้ได้จริง กระจายอย่างแพร่หลาย อาจเริ่มต้นกลางปีหน้า (2021 หรือปี 2022) จนกระทั่งยากับวัคซีนกระจายแก่หลายพันล้านคน ระยะนี้อาจกินเวลาไปถึงปี 2024-25 ขึ้นกับจำนวนผู้ได้รับยาหรือวัคซีน
ไม่ว่าการระบาดในประเทศจะรุนแรงหรือไม่ ผลกระทบต่อการเมืองเศรษฐกิจสังคมจะเห็นชัดเป็นรูปธรรม หลายธุรกิจล้มหายตายจาก เกิดธุรกิจแนวใหม่ (หรือปรับเปลี่ยนวิธีประกอบการ) ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ บางบริษัทจะเจริญก้าวหน้ากว่าก่อน ชีวิตวิถีใหม่เป็นบรรทัดฐานสังคม
ในระยะนี้ผลระดับมหภาคชัดเจน หลอกใครไม่ได้อีกแล้ว บางอย่างเป็นผลถาวร เป็นความเข้าใจผิดถ้าคิดว่าธุรกิจทั้งหมดจะฟื้นตัวทันที และทุกคนได้กลับเข้าทำงาน ควรสนใจตัวเลขกำลังซื้อทั้งในและต่างประเทศ
คะแนนนิยมของรัฐบาลขึ้นกับความสามารถในการจัดการโควิด-19 สภาพปัญหาเศรษฐกิจการเมืองสังคมอันเป็นผลโดยตรงจากโรคระบาด ทุกพรรคต้องมีนโยบายเหล่านี้
ความเจริญมั่งคั่งของประเทศเปลี่ยนไป ประเทศที่จัดการได้เร็วมีประสิทธิภาพจะเป็นที่โดดเด่น ได้โอกาสจากโรคระบาด ในขณะที่บางประเทศอ่อนแอลง งบลงทุนหดหาย ล้มลุกคลุกคลานทุกมิติ โควิด-19 คือภัยคุกคามแห่งชาติที่ร้ายแรงที่สุด ไม่ใช่ประเทศปรปักษ์
ในระยะนี้จะเห็นการแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายทางการเมืองระหว่างประเทศผ่านการรับความช่วยเหลือ จะใช้วัคซีนของชาติตะวันตก ของรัสเซียหรือจีน วาระโลกคือการแก้ปัญหาโควิด-19
ระยะยาว มียากับวัคซีนหลายตัวหลายชนิด
เริ่มระยะนี้เมื่อมียากับวัคซีนหลายชนิด พัฒนาปรับปรุงจากยารุ่นแรกๆ การพัฒนาวิธีรักษาใหม่ๆ แข่งกับการแพร่ระบาดและการกลายพันธุ์ของไวรัส ได้ยากับวัคซีนที่ปลอดภัย ทุกคนใช้ได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะใช้ (บางคนไม่ยอมใช้แม้ฉีดฟรี วัคซีนผ่านการรับรอง ผู้นำประเทศ บุคคลสำคัญฉีดวัคซีนโชว์) ผู้ติดโรครายใหม่ยังมีอยู่ แต่การระบาดไม่เป็นภัยเช่นก่อนหน้านี้
ในระยะนี้มุ่งชี้โลกภายใต้ผลที่เกิดขึ้นจากโรคระบาด การมีวัคซีนช่วยลดการติดโรค แต่ปัญหาอันเกิดจากการระบาดก่อนหน้านี้จะฉายภาพให้เห็นผลกระทบระยะยาว ผลจากโควิด-19 จะกินเวลาหลายปี (อาจยาวไปถึง 2030 หรือไกลกว่านั้น จนกว่าโควิด-19 ไม่ใช่ภัยร้ายแรงอีกต่อไป โลกเข้าใจผลกระทบระยะยาว)
ผลกระทบสำคัญคือสภาพการเมืองสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ประเด็นหนึ่งที่น่าติดตามคือหนี้สาธารณะ หนี้ครัวเรือนที่ถีบตัวขึ้นสูง รัฐจะแก้อย่างไร ส่งผลกระทบอย่างไร จะเห็นการถอยหลังเข้าคลองของหลายประเทศ (อารยธรรมถดถอย) พร้อมกับปัญหาเศรษฐกิจสังคมมากมาย จำนวนผู้ยากจนยากไร้คือดัชนีชี้วัดตัวหนึ่ง ปัญหาสุขภาพระยะยาวอันเนื่องจากโควิด-19 สถานการณ์เช่นนี้จะรุนแรงในประเทศที่อ่อนแอยากจนอยู่แล้ว โควิด-19 เป็นภัยซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม
มีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นเด่นชัดแตกต่างจากเดิม ส่งเสริมเงินดิจิทัล สังคมไร้เงินสด เทคโนโลยีหรือสิ่งประดิษฐ์บางอย่างเป็นที่นิยม เช่น ระบบฝังชิปในร่างกาย เมืองใหญ่ลดความแออัด การออกแบบโรงงาน สำนักงานที่ติดตั้งระบบป้องกันเชื้อโรค ระบบการรับคนเข้าทำงานที่รองรับการทำงานแบบกึ่งออฟฟิศกึ่งบ้าน ฯลฯ
ในระดับปัจเจกที่ควรติดตามคือปัญหาสุขภาพระยะยาวของผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 ผลกระทบต่อแต่ละครอบครัวที่สภาพครอบครัวไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือประเทศอื่นๆ จะเป็นที่นิยมชมชอบ ส่งผลต่อการผูกมิตร ขั้วอำนาจโลกเบี่ยงเบนจากเดิม (หันไปขั้วใดขั้วหนึ่งมากขึ้น) ความเป็นมหาอำนาจบางประเทศลดลงบางประเทศเพิ่มขึ้น มีผลต่อความนิยมลัทธิการเมือง ระบบเศรษฐกิจโลก
อาจต้องรออีกหลายปี :
เป็นความเข้าใจผิดถ้าคิดว่าโลกจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังมีวัคซีนปีนี้ปีหน้า ประเด็นที่ต้องติดตามคือวัคซีนให้ภูมิคุ้มกันกี่เดือนกี่ปี ป้องกันได้มากน้อยแค่ไหน ครอบคลุมไวรัสที่กลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ หรือไม่ ต้องเข้าใจว่าวัคซีนแต่ละตัวแต่ละยี่ห้อมีประสิทธิภาพต่างกัน ณ ตอนนี้ถกเถียงเรื่องความน่าเชื่อถือ
แอนโทนี เฟาซี (Anthony Fauci) กล่าวเมื่อต้นเดือนสิงหาคม ว่าโอกาสที่จะได้วัคซีนคุณภาพสูงมีน้อย ตอนนี้นักวิจัยคิดว่าถ้าได้ผลสัก 75% ถือว่าดีแล้ว หรือถ้าได้ผล 50-60% ก็ยอมรับได้
ด้านรัสเซียประกาศแล้วว่าวัคซีนตัวแรกของตน Sputnik V ใช้กับคนอายุ 18-60 ปีเท่านั้น หมายความว่าผลการวิจัยไม่รองรับการใช้ในเด็กกับผู้สูงวัย จึงต้องติดตามต่อว่าวัคซีนตัวอื่นๆ ใช้ครอบคลุมทุกวัยหรือไม่ หรือต้องวิจัยวัคซีนที่ใช้เฉพาะกลุ่มวัย
การมีวัคซีนในปีนี้ปีหน้าเป็นเรื่องดีช่วยคลายความวิตกกังวลแต่ไม่เป็นเหตุฟื้นคืนสู่สภาพเดิม อาจต้องรออีก “หลายปี” ในการพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ๆ ได้ตัวที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากพอ
คำถามสำคัญคือเมื่อเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวเร็ว ผลที่เกิดขึ้นคืออะไร จะทนไหวไหมถ้าต้องตกงานอีก 3 ปี ครอบครัวจะเป็นอย่างไรหากรายได้หายไปกึ่งหนึ่ง บริษัทจะทนขาดทุนได้กี่ปีหากการปรับเปลี่ยนยังไม่ใช่ทางออก ผลระยะยาวโดยรวมที่ตามมาเป็นเช่นไร เป็นประเด็นที่ต้องวิเคราะห์ลงรายละเอียด มองโลกตามที่เป็นจริง หากคนตกงานเพิ่ม 50% จะส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่ ประเทศจะถอยหลังกี่ปี ระบบโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร
สิ่งเหล่านี้มีผลต่อ “แผน” “นโยบาย” ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ธุรกิจ ไล่ไปจนถึงระดับประเทศ เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องศึกษา ผู้มีสติปัญญาต้องให้ความรู้ รัฐต้องปรับเปลี่ยนนโยบายให้เร็วมากพอ แก้ไขปัญหาตรงจุด ไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยมีเคยเป็น ความเข้าใจที่ถูกต้องคือโลกจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เป็นอีกยุคแล้ว ผลจากโควิด-19 จะอยู่กับโลกอีกหลายปี หลายอย่างจะเปลี่ยนไป เป็นทั้งโอกาสกับการทำลายล้าง
ลี เซียนลุง นายกฯ สิงคโปร์ ขอให้ประชาชนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ยืนหยุ่นปรับตัววิกฤติโควิด-19 จะผ่านพ้นแน่ แต่อาจใช้เวลามากกว่าที่คิด
ทางออกเบื้องต้นคือต้องให้ความสำคัญกับความมั่นคงอาหาร ทุกคนศึกษาความรู้เพิ่มเติม หาอาชีพใหม่หรืออาชีพเสริม รวมตัวช่วยเหลือเป็นกลุ่มก้อน ขอความช่วยเหลือจากรัฐได้ แต่อย่ารอรัฐเพียงอย่างเดียวเพราะรัฐแค่เยียวยาไม่ได้ช่วยทั้งหมด หาวิธีรักษาพลังใจให้เข้มแข็ง เช่น พูดคุยกับคนที่มีกำลังใจดี ปรึกษาผู้ที่จะช่วยเสริมสร้างกำลังใจ
ถ้ามองแง่บวกโควิด-19 อาจผลักดันให้คนในชาติเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น ความร่วมมือต่างหากที่ช่วยให้อยู่รอด ใช้เสรีภาพเพื่อให้ส่วนรวมก้าวไปข้างหน้า ได้พบสิ่งดีใหม่ๆ.
--------------------
ภาพ : คนไทยอยู่เป็น ลดรายจ่าย
ที่มา : https://www.facebook.com/PublicrelationsYasothon/posts/2681770112036546
----------------------
August 30, 2020 at 12:08AM
https://ift.tt/2Dev6lg
ยุคโควิด-19 - ไทยโพสต์
https://ift.tt/2AaMG8j
No comments:
Post a Comment