Pages

Saturday, August 15, 2020

คอลัมน์ผู้หญิง - ปัญญาประดิษฐ์กับการเมือง - หนังสือพิมพ์แนวหน้า

sallstargossip.blogspot.com

เมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา ได้กล่าวถึง การนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในการพัฒนาเมืองกันไปแล้ว ในบทความ “เมืองปัญญาประดิษฐ์” (สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ https://www.naewna.com/lady/columnist/44684 ) ในบทความของอาทิตย์นี้ จึงถือโอกาสนำเรื่องของปัญญาประดิษฐ์มาขับเคลื่อนอีกครั้ง แต่เป็นการนำมาใช้ในพื้นที่ของการเมือง ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงเวลานี้ (และก่อนหน้า)

อันที่จริงแล้วปัญญาประดิษฐ์ หรือที่เรียกกันว่า AI (Artificial Intelligence) มีการพูดถึงเป็นครั้งแรกตั้งแต่ ค.ศ. 1940
โดยได้มีการศึกษาถึงการสร้าง “การเรียนรู้ของเครื่องจักร” หรือ “Machine Learning” ด้วยแรงบันดาลใจในความต้องการจะสร้างสมองอิเล็กทรอนิกส์ แต่ด้วยข้อจำกัดของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในยุคนั้นทำให้ความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ค่อนข้างจำกัด (ไม่ได้เกิดประสิทธิภาพเท่าที่หวัง) จนกระทั่งเข้าสู่ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เมื่ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์มีพัฒนาการจนสามารถรองรับข้อมูลขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่า Big Data ได้ นี่เองจึงส่งผลให้การทำงานของระบบปัญญาประดิษฐ์สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ด้วยศักยภาพในการประมวลผล และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกได้เสมือนมนุษย์ทั่วไป ด้วยกระบวนการแห่งการเรียนรู้ด้วยการจดจำและคิดตามอย่างเป็นระบบ

แน่นอนว่า ในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้กันอย่างแพร่หลายในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ กีฬา สาธารณสุข หรือแม้แต่ในทางการเมืองเอง ซึ่งในเรื่องสุดท้ายนี้ ก็มีทั้งที่นำมาใช้ด้วยเจตนาที่ดีและตรงกันข้าม

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า การเข้าถึงข้อมูลจำนวนมหาศาล คือทักษะที่ทำให้การใช้ปัญญาประดิษฐ์ทรงพลังอย่างถึงที่สุด ดังนั้น การนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการวางแผนสำหรับ
การสร้างคะแนนนิยมเพื่อการเลือกตั้งจากเมื่อก่อนที่ผู้สมัครทั่วไปต้องอาศัยสัญชาตญาณในการกำหนดท่าทีและนโยบายแต่ตอนนี้ข้อมูลเชิงลึกจากคลังข้อมูลขนาดใหญ่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการรณรงค์หาเสียงของผู้สมัครเลือกตั้งเป็นสำคัญมากกว่าเรื่องอื่นใดไปเสียแล้ว

นอกจากนี้ ความสามารถของเครื่องจักรแห่งการเรียนรู้ หรือปัญญาประดิษฐ์ ยังใช้ในการประเมินเกี่ยวกับกฎหมายของสหรัฐฯ ที่อยู่ในสภาฯ ว่ากฎหมายใดบ้างจะสามารถได้รับการยอมรับและบังคับใช้ได้ ด้วยการประเมินร่างกฎหมาย และตัวแปรอื่นๆ เช่น จำนวนผู้ให้การสนับสนุน และช่วงเวลาในการเสนอเข้าสู่สภาฯ รวมไปถึงการนำมาใช้เพื่อสร้างความตระหนักของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงต่อประเด็นต่างๆ ทางการเมือง

กระนั้น ในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในทางการเมือง ก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อ “หลักจริยธรรม” เพราะ
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นั้น สามารถนำมาใช้ในการโน้มน้าวผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังที่เคยเป็นประเด็นใหญ่โตในการเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อปี 2016 ที่มีการจ้างบริษัทข้อมูลสถิติเชิงวิทยาศาสตร์อย่าง “Cambridge Analytica” ให้ทำการวางแผนการรณรงค์หาเสียง และโน้มน้าวผู้มีสิทธิลงคะแนนด้วยหลักจิตวิทยาที่ถูกออกแบบมาเฉพาะสำหรับบุคคล ด้วยการใช้ข้อมูลจำนวนมหาศาลร่วมกับการเรียนรู้ของเครื่องจักรแห่งการเรียนรู้ ทำให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงได้รับสารที่แตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับมุมมองและความเห็นของแต่ละคนในประเด็นที่แตกต่างเช่น คนที่มีความหวาดระแวงก็จะได้รับโฆษณาที่สร้างความกลัว ในขณะที่คนซึ่งมีแนวคิดอนุรักษ์นิยมก็จะได้รับโฆษณาที่สร้างข้อถกเถียงถึงธรรมเนียมและประเพณีต่างๆ ในสังคม (ในเชิงชี้นำหรือขัดแย้งตามแต่เป้าประสงค์)

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ด้วยการเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์จากผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง ผ่านพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ พฤติกรรมการบริโภค และความสัมพันธ์ส่วนตัวของพวกเขาเหล่านั้น ข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บไปเพื่อใช้ในการศึกษาพฤติกรรมเฉพาะของแต่ละบุคคลเป้าหมาย เพื่อสร้างรูปแบบการสื่อสารสำหรับการไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ (ของผู้ว่าจ้าง) ซึ่งการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในลักษณะเช่นนี้ ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ไปถึงความจริงใจของตัวผู้สมัครเอง เพราะจะทำให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงแต่ละคนจะได้รับข้อความในการรณรงค์หาเสียงที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งส่งผลให้เกิดคำถามต่อจุดยืนที่แท้จริงของตัวผู้สมัครรายนั้น

ที่น่ากังวลยิ่งกว่า คือ การนำ“โรบอทการเมือง” (ตัวบุคคลในออนไลน์ที่เป็นบัญชีปลอม เกิดจากโปรแกรม) มาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง เพื่อกระจายข้อมูลปลอมและข่าวเท็จในสื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลก โดยโรบอทดังกล่าวนี้ถูกสร้างขึ้นให้ทำหน้าที่โต้ตอบและกระจายข้อมูลข่าวสารทางการเมืองเพียงด้านเดียว เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการกระจายเรื่องดีของคนที่สนับสนุน หรือการกระจายข่าวเท็จหรือเรื่องไม่ดีของกลุ่มการเมืองตรงกันข้าม

แต่เหรียญก็มีสองด้าน ถ้ามองในด้านดี การใช้ปัญญาประดิษฐ์ทางการเมืองก็สามารถสร้างการรวบรวมข้อมูลที่สำคัญต่อการพัฒนาและตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญๆ ได้เช่น การรับฟังเสียงและความต้องการของประชาชนเพื่อออกนโยบายที่ตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงหรือการตั้งค่าโรบอทในการตอบโต้ข้อมูลเท็จหรือให้คำอธิบายต่อความไม่ถูกต้องของข่าวสาร นอกจากนั้นเรายังสามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงสามารถเข้าถึงตัวผู้สมัครเลือกตั้งที่มีจุดยืนสอดคล้องกับความเชื่อของพวกเขาได้ อาทิ ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงมีความสนใจในเรื่องของอากาศสะอาดเราก็สามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์ตั้งค่าให้พวกเขาสามารถเข้าถึงนโยบายเรื่องอากาศสะอาดของแต่ละพรรคการเมืองได้ เป็นต้น ดังนั้น สิ่งที่ต้องมาคิดต่อยอดกันต่อก็คือ กฎระเบียบในการควบคุมการนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องควรอยู่ในกรอบใด มาตรฐานไหน ที่ทุกคนให้การยอมรับ

อีกประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ในทางการเมือง เมื่อมีการตั้งคำถามกันว่า ปัญญาประดิษฐ์จะสามารถมาทดแทนนักการเมืองได้หรือไม่ ก็นึกไปถึงที่ประเทศนิวซีแลนด์ มีการสร้างหุ่นยนต์ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ขึ้นมาชื่อว่า “แซม” ที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องของเวลาในการทำงาน และสถานที่ในการทำงานมีความทรงจำที่แม่นยำ เข้าใจสถานะของทุกคนโดยไม่มีอคติในการตัดสินใจ (ต่างกับมนุษย์) คือ สามารถตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง และเหตุผลที่ผ่านความเห็นต่างๆ ไม่โกหก ไม่ให้ข้อมูลเท็จ และให้ความสำคัญ หรือจุดยืน ตามประเด็นปัญหาที่คนให้ความสำคัญมากที่สุด ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ หรือเสียง ก็จะสะท้อนภาพความเป็นนิวซีแลนด์ ซึ่งเจ้าปัญญาประดิษฐ์นักการเมืองตัวนี้ก็ได้รับความสนใจจากทั่วโลกอย่างมากมาย

แต่สำหรับความเห็นส่วนตัวการเมืองเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และซับซ้อน ที่สำคัญ ความรู้สึกเป็นสิ่งสำคัญที่นักการเมืองต้องใช้ในการทำงาน หรือสื่อสารกับผู้สนับสนุนในการสร้างความนิยม ดังนั้น แม้ปัญญาประดิษฐ์จะถูกทำขึ้นมาโดยมนุษย์ และทำทุกอย่างได้แบบมนุษย์ (หรืออาจจะดีกว่า) แต่ความรู้สึกนั้นสร้างไม่ได้ มันเกิดขึ้นโดยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์เท่านั้น ความทุกข์ร้อน ความเห็นใจ การเป็นความหวัง การเป็นใครสักคนที่สร้างความอุ่นใจ ฯลฯ ไม่มีสิ่งไหนทำได้ดีเท่ามนุษย์ด้วยกันอีกแล้ว

สิ่งที่จะบอกก็คือ จงอย่าหมดหวังกับการเมือง หรือนักการเมือง เพราะเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์จะทำให้ประชาชนกับการเมือง หรือนักการเมือง สามารถเข้าถึงกันได้อย่างใกล้ชิด และนั่นก็จะเป็นทิศทางที่สำคัญของการเมืองไทย และในหลายประเทศบนโลกใบนี้ ที่ทุกคนจะมีส่วนในการกำหนดอนาคตของตัวเองอย่างแท้จริง




August 16, 2020 at 06:00AM
https://ift.tt/2PXmUIQ

คอลัมน์ผู้หญิง - ปัญญาประดิษฐ์กับการเมือง - หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://ift.tt/2AaMG8j

No comments:

Post a Comment