Pages

Monday, March 29, 2021

นันยาง: จากตำนานรองเท้าช้างดาว สู่การแลกสินค้าผ่าน "บิตคอยน์" - ประชาชาติธุรกิจ

sallstargossip.blogspot.com
นันยาง จากตำนานรองเท้าช้างดาวสู่บิตคอยน์
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก นันยาง Nanyang

เมื่อช่วงต้นเดือนโรงหนังเมเจอร์ฯ เพิ่งประกาศให้ลูกค้าสามารถนำบิตคอยน์มาแลกตั๋วหนังได้ ล่าสุดเป็นคราวของแบรนด์รองเท้าเก่าแก่อย่าง “นันยาง” ที่ลงมาเล่นกับกระแสเงินสกุลดิจิทัลด้วยเช่นกัน 

วันที่ 30 มีนาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เพจเฟซบุ๊ก นันยาง Nanyang ของ บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรองเท้าผ้าใบและรองเท้าแตะ โพสต์ข้อความระบุว่า ทางบริษัทได้เพิ่มช่องการให้ลูกค้านำเงินสกุลดิจิตอล หรือ Cryptocurrency แลกสินค้านันยาง ได้แล้ว ข้อความมีดังนี้

Bitcoin แลกนันยางได้แล้ววันนี้

หากพูดถึง ‘Bitcoin’ (บิตคอยน์) ชั่วโมงนี้หลายคนคงรู้จักกันบ้าง ซึ่ง Bitcoin คือสกุลเงินดิจิตอล หรือ Cryptocurrency ยอดนิยมเพื่อหวังผลตอบแทนในอนาคต หลายธุรกิจชั้นนำของโลกให้ความสนใจ ศึกษาและเปิดบริการให้ลูกค้านำเงินดิจิตอลนี้มาแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการได้มากขึ้นเรื่อย ๆ

นันยาง จึงเพิ่มช่องการให้ลูกค้านำเงินสกุลดิจิทัล หรือ Cryptocurrency แลกสินค้านันยาง โดยเปิดรับ 3 สกุลได้แก่

  1. Bitcoin(BTC)
  2. Ethereum(ETH)
  3. Dogecoin(DOGE)

ท่านที่สนใจสามารถติดต่อทางกล่องข้อความ facebook นันยาง และรอรับสินค้าไม่เกิน 3 วันทำการ

ขอเชิญชวนทุกคนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของตำนานครั้งนี้

#แลกนันยางด้วยBitcoin

#นันยาง #ทุกก้าวคือตำนาน

ขั้นตอนการแลกรองเท้านันยางด้วย Cryptocurrency

1.แจ้งความประสงค์ผ่านข้อความ เพจ นันยาง Nanyang

2.ระบุสินค้าและสกุลเงินที่ต้องการแลกเปลี่ยน รอเจ้าหน้าที่แจ้งราคาและลิงค์การโอน

3.ส่งหลักฐานการโอน แจ้งที่อยู่ในการจัดส่ง เบอร์โทรและรอรับสินค้าได้เลย

รู้จักเงินสกุลดิจิทัล

ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า เงินสกุลดิจิตอล หรือ Cryptocurrency เป็นสกุลเงินใหม่ที่สร้างขึ้นจากกลไกคณิตศาสตร์ที่กำหนดจำนวนไว้จำกัด ต้องใช้ระบบคอมพิวเตอร์ถอดรหัสเพื่อนำเงินออกจากกลไก สกุลเงินใหม่นี้สร้างขึ้นเพื่อลดการรวมศูนย์ของระบบการชำระเงินผ่านสถาบันการเงินให้สามารถกระจายไปยังผู้ใช้ในเครือข่ายสกุลเงินนั้นๆ ได้

โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain) ติดตามการเคลื่อนไหวของเงิน แม้จะไม่มีตัวกลางและสามารถป้องกันการปลอมแปลงได้ด้วย การชำระ/โอนเงินจึงอยู่แค่ภายในเครือข่าย ซึ่งมีข้อดีที่รวดเร็ว ต้นทุนต่ำ และปลอดภัย แต่ธนาคารกลางส่วนใหญ่ยังไม่รับรองว่าบรรดาคริปโทเคอร์เรนซีที่เอกชนสร้างขึ้นมา สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

คริปโทเคอร์เรนซีจึงทำหน้าที่ของเงินได้ไม่ครบ เพราะยังไม่เป็นสื่อกลางในการชำระเงินและไม่ถูกใช้เป็นหน่วยกำหนดราคาสิ่งของแถมมูลค่ายังผันผวนมาก แต่ถ้าเป็น “สกุลเงินดิจิทัลที่ธนาคารกลางออกใช้ (central bank digital currency: CBDC)” จะมีคุณสมบัติของเงินที่ครบถ้วนเพราะมีมูลค่าแน่นอนใช้แทนสกุลเงินท้องถิ่นได้ตามกฎหมาย

“นันยาง” เจาะคนรุ่นใหม่

สำหรับ “นันยาง” หนึ่งในแบรนด์รองเท้านักเรียนชายและรองเท้าแตะคีบตราช้างดาว ที่ได้รับความความนิยมมากว่า 70 ปี เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ได้เพิ่มช่องทางขายผ่านตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ เพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น

นายจักรพล จันทวิมล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด เผยว่า นันยางมีเป้าหมายขยายช่องทางขายให้ครอบคลุมมากขึ้น เพราะจากเดิมแล้ว รองเท้านันยางจะวางขายอยู่ในเทรดิชั่นนอลเทรด ร้านอาเฮีย อาแป๊ะ หน้าหมู่บ้าน จนปัจจุบันเริ่มขยับมาจำหน่ายในมาร์เก็ตเพลส อาทิ ลาซาด้า ช้อปปี้ และตอนนี้ในห้างไม่มีขายเลย

บริษัทจึงเพิ่มช่องทางขายผ่านตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Unofficial Store รูปแบบช้างดาวสไตล์” ถือเป็นการนำสินค้าเข้าไปหาลูกค้าอย่างใกล้ชิด และมีเป้าหมายขยายฐานลูกค้า โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่

นายจักรพล กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากลยุทธ์การทำตลาดของนันยาง จะต้องเข้าใจสินค้า และต้องเข้าใจลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในเชิงลึก โดยที่ผ่านมา ได้พัฒนานันยาง ช้างดาวที่ผลิตเอาใจสาวกเด็กหงส์แดง และนันยางขยะตอบกลุ่มเป้าหมายรักษ์โลก รวมถึงช้างดาวไวท์พิ้งก์และช้างดาวเหลืองแดง เจาะกลุ่มศิษย์ 2 สถาบันอุดมการศึกษา ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และจากนี้จะเดินหน้าพัฒนาคอลเล็กชั่นใหม่ ๆ ออกมาเพิ่มสีสันตลาดต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ จะมุ่งปรับภาพลักษณ์แบรนด์ เนื่องจากในอดีตกลุ่มรองเท้าช้างดาวมีอายุ 45 ปี จึงต้องปรับให้มีอายุน้อยลง เพื่อเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้

ตำนาน “นันยาง”

ข้อมูลจากเว็บไซต์นันยาง เล่าประวัติของบริษัทว่า ย้อนกลับไปสมัยรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ราวพุทธศักราช 2460 หนุ่มน้อยอายุ 15 ปี จากมณฑลฮกเกี้ยน ประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ชื่อ ซู ถิง ฟาง หรือ วิชัย ซอโสตถิกุล ล่องสำเภาพร้อมบิดา แบบเสื่อและหมอนมายังแผ่นดินสยาม

อาชีพแรกของเขาเมื่อถึงแผ่นดินสยาม คือขายเหล็กในโรงงานของคุณอา และได้สะสมประสบการณ์ในหน้าที่การงาน จนได้เป็น หลงจู๊ ในโรงไม้จินเส็ง ซึ่งมีสำนักงานอยู่ใกล้วัดตะเคียน (วัดมหาพฤฒารามในปัจจุบัน)

วิชัยพบรักกับสาวไทยเชื้อสายจีนที่เป็นคนอยุธยา บุญสม บุญยนิตย์ หลังจากแต่งงานเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ เขาได้บุตร-ธิดาเป็นทายาทสืบทอดตระกูล ซอโสตถิกุล รุ่นที่ 2 รวมทั้งสิ้น 9 คน

ช่วง พ.ศ. 2478 วิชัยตัดสินใจด้วยความมุ่งมั่นที่จะผันตัวเองขึ้นมาเป็น “เถ้าแก่” บุกเบิกธุรกิจของตัวเอง เช่าอาคาร 2 ชั้น บริเวณหัวโค้งเชิงสะพานพุทธฯ (ถนนตรีเพชร เขตพระนคร) โดยก่อตั้ง บริษัท ฮั่วเซ่งจั่น จำกัด ดำเนินธุรกิจ ซื้อมา-ขายไป นับเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจของตระกูล “ซอโสตถิกุล” แต่การดำเนินธุรกิจในภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสิ่งที่ยากแสนสาหัส นอกจากเศรษฐกิจที่ซบเซาแล้ว ยังต้องหนีการทิ้งระเบิดในพระนครอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย

เมื่อควันของสงครามยุติกลับสู่ภาวะปกติ ธุรกิจของวิชัย ซอโสตถิกุล เริ่มมั่นคงและขยายตัวรุดหน้า ตั้ง บริษัท วัฒนสินพาณิชย์ จำกัด เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2491 โดยย้ายสำนักงานไปย่านตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ (ตรงข้ามซอยสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ในปัจจุบัน) มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ นำเข้า-ส่งออกสินค้าหลากหลายชนิด

รวมถึงการติดต่อร่วมทำธุรกิจกับชาวสิงคโปร์เพื่อนำเข้า รองเท้าผ้าใบจากประเทศสิงค์โปร์ ยี่ห้อหนำเอี๊ย รุ่น 500 ผ้าสีน้ำตาล พื้นยางสีน้ำตาล บรรถุงในถุงกระดาษสีน้ำตาล เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ในราคาคู่ละ 12 บาท (หนำเอี๊ย แปลว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้)

ธุรกิจรองเท้าหนำเอี๊ยในช่วง 2 ปีแรกยังขาดทุน แต่ภายหลังเมื่อตลาดเริ่มตอบรับดีขึ้นในตลาดสำเพ็ง และตลาดต่างจังหวัด ที่ติดใจในคุณภาพของสินค้า จนมีคนกล่าวติดตลกว่า “ใส่เดินทำงานข้ามภูเขา ไป-กลับ ได้สบาย ส่วนรองเท้ายี่ห้ออื่น ขาไปใส่หนึ่งคู่ พังพอดี ต้องเตรียมไปอีกคู่เพื่อใส่กลับ”

เมื่อ รองเท้าหนำเอี้ย เป็นที่นิยมอย่างมากในเวลาต่อมา ทำให้บริษัทลดการนำเข้าสินค้าประเภทอื่น โดยเน้นการขายรองเท้าเพียงอย่างเดียว และได้เปลี่ยนการออกเสียงยี่ห้อให้เป็นสากลมากขึ้น จาก หนำเอี๊ย ภาษาจีนแต้จิ๋ว เป็น หนันหยาง (Nan-Yang) ภาษาจีนกลาง แต่เพื่อให้ติดปากคนไทยมากขึ้น จึงเรียกว่า “นันยาง” ตั้งแต่นั้นมา

โดยได้จดทะเบียนการค้า “นันยาง ตราช้างดาว” กับกระทรวงพาณิชย์ในปีพ.ศ. 2492 ก่อนที่  วิชัย-บุญสม ซอโสตถิกุล จะร่วมสร้างตำนาน “นันยาง” ในประเทศไทย ในปีพุทธศักราช 2496

นโยบายการเชิญชวนให้คนไทยสนับสนุนสินค้าไทย ในช่วง พ.ศ. 2490 มีส่วนสำคัญที่ทำให้วิชัยมีแนวคิดจะผลิตสินค้าเอง โดยใช้วัตถุดิบและแรงงานในประเทศ จนในที่สุด นายห้างวิชัย ได้ตัดสินใจซื้อกิจการและกรรมวิธีการผลิตที่ทันสมัยจากสิงคโปร์ ก่อตั้ง บริษัท ผลิตยางนันยาง (ไทย) จำกัด บนเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ เรียบถนนเพชรเกษม แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ เพื่อเป็นฐานการผลิตรองเท้านันยางในประเทศไทย

โดยมีช่างรองเท้าชาวสิงค์โปร์จำนวน 30 คน เดินทางโดยเรือมาจากสิงคโปร์ไปมาเลเซีย และนั่งรถไฟต่อมาถึงกรุงเทพฯ และเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2496 รองเท้าผ้าใบนันยางได้เริ่มสายการผลิตในประเทศไทย ซึ่งในวันนั้นสามารถผลิตรองเท้าได้ 70 คู่ พร้อมคำว่า “Made in Thailand” ที่ถูกประทับคู่กับโลโก้ “นันยางตราช้างดาว” เป็นครั้งแรก

ขณะที่นายห้างวิชัยดูแลภาพรวมของบริษัท คุณนายบุญสม ซอโสตถิกุล ภรรยาคู่ชีวิต ได้อาสาดูแลการผลิตและควบคุมคุณภาพสินค้าด้วยตัวเองทุกวัน บ่อยครั้งจะลงมือคัดเลือกรองเท้าที่ไม่ได้มาตรฐานด้วยตนเอง ก่อนที่สินค้าจะส่งออกสู่ตลาด พุทธศักราช 2499 ได้ถือกำเนิด รองเท้าแตะตราช้างดาว รุ่น 200 ขึ้น

ด้วยการพัฒนาส่วนผสมและกระบวนการผลิตอย่างลงตัว จึงให้รองเท้าแตะตราช้างดาวขณะนั้นได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม มีสองสีคือ สีน้ำตาลและสีน้ำเงิน ใส่ในถุงพลาสติกใส ราคาคู่ละ 15 บาท เมื่อ พ.ศ. 2528 ได้รับเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก)

ในปัจจุบัน รองเท้าแตะนันยางตราช้างดาว หลายร้อยล้านคู่ได้ผ่านร้อนหนาวร่วมกับคนไทยและชาวต่างชาติทั่วโลก ด้วยเอกลักษณ์ความสบาย ง่ายง่าย ทนทาน ลุยไปทุกที่ ใส่ได้หมดไม่ว่ารวยหรือจน ทุกเพศทุกวัย และได้รับความนิยมจากรุ่นสู่รุ่น ช้างดาวจึงเป็นมากกว่ารองเท้า เป็นมากกว่าแฟชั่น แต่เป็น ‘สไตล์’ ที่อยู่เหนือกาลเวลา

ครบรอบ 25 พุทธศตวรรษใน พ.ศ. 2500 เพียรศักดิ์ ซอโสตถิกุล บุตรชายคนโตของวิชัย ซอโสตถิกุล กลับมาจากประเทศอังกฤษ ต้องการผลิตรองเท้านันยางสำหรับแบดมินตันโดยเฉพาะ จึงได้พัฒนารองเท้าที่ใช้รหัสในการผลิตว่า 205-S โดยเป็น รองเท้าพื้นสีเขียว ซึ่งนับเป็นสีที่แปลกมากในขณะนั้น ด้วยความเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการแบดมินตันไทย

ซึ่งภายหลังได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทย ทำให้รองเท้านันยางรุ่น 205-S ที่เพียรศักดิ์ออกแบบ ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักแบดมินตันชาวไทยจนกระทั่งขยายตัวไปยังกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ นักกีฬา กิจกรรมผจญภัย ตลอดจนงานในด้านอุตสาหกรรม โรงงาน การขนส่ง การเกษตร หรือผู้มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษ

จนมีสินค้าเลียนแบบจำนวนมาก เมื่อ พ.ศ. 2537 นันยางตัดสินใจเพิ่มโลโก้ “Nanyang” ลงบนรองเท้าเพื่อตอกย้ำให้ผู้บริโภคทราบว่าใส่รองเท้านันยางเท่านั้น

ด้วยความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น กรอปกับการขยายตลาดของสินค้านันยาง ส่งผลให้บริษัทลงทุนขยายและพัฒนาฐานการผลิตไปยังศูนย์การผลิตแห่งใหม่ บริเวณเขตบางแค และก่อตั้ง บริษัท นันยางอุตสาหกรรม จำกัด ขึ้น เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2512  และ บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ในพ.ศ. 2522  โดยย้ายสำนักงานใหญ่จากแยกตลาดน้อย มาบริเวณถนนสี่พระยา เขตบางรัก จนถึงทุกวันนี้

รองเท้านันยางพื้นเขียว ถือเป็นหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของวงการรองเท้าไทย โดยรัฐบาลประกาศให้เป็น “สินค้าไทยดีเด่น” ใน พ.ศ. 2527 และ “ผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยมของประเทศไทย” ใน พ.ศ. 2558 นอกจากนันยางจะเป็นที่นิยมในประเทศแล้ว  ยังส่งออกไปต่างประเทศมากมาย เช่น จีน ลาว กัมพูชา  เวียดนาม พม่า บังกลาเทศ ปากีสถาน อินโดนิเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการแปรรูปสินค้าเกษตรไทย และสร้างรายได้กลับเข้าประเทศอีกด้วย




March 30, 2021 at 11:40AM
https://ift.tt/3u3REd8

นันยาง: จากตำนานรองเท้าช้างดาว สู่การแลกสินค้าผ่าน "บิตคอยน์" - ประชาชาติธุรกิจ

https://ift.tt/2YfjZyP

No comments:

Post a Comment